จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
หลายครั้งที่คนเรามักจะมองว่า “ความตาย” เป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับคนที่อายุยังน้อย และมองว่าเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจเมื่อชีวิตก้าวสู่ช่วงบั้นปลายเท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว ความตายอยู่คู่กับมนุษย์ในทุกช่วงวัย และเราควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ในหลากหลายมุมมองดังที่เด็กๆ ชั้น 9 ในวิชา มรณศึกษา Death Education ได้เรียนรู้ในภาคเรียนวิริยะ ปีการศึกษา 2566
วิชามรณศึกษา วิชาที่พาเด็กๆ ศึกษาความตายเพื่อเข้าใจการมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่แค่ของตนเองเท่านั้น แต่รวมถึงคนรอบข้างด้วย ในวิชานี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความตายในมุมมองที่หลากหลาย เริ่มต้นที่ เรียนรู้ความหมายของความตายและเจตคติต่อการตายที่สัมพันธ์ต่อการดำรงอยู่ของคนเรา ตามด้วยวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายในแต่ละศาสนาและวัฒนธรรม นอกจากด้านความเชื่อแล้ว เด็กๆ ได้เรียนรู้ในทางวิทยาศาสตร์ด้วยว่าความตายมีปัจจัยที่สัมพันธ์กับร่างกายของคนเราอย่างไร สมอง และ หัวใจ ควบคุมความตายของร่างกายอย่างไร
รวมถึงในมุมของความตายกับชีวิตประจำวัน ทั้งทางด้านอารมณ์ ทรัพย์สิน กฎหมาย สุขภาพ การจัดการตนเอง เตรียมตัวก่อนตาย ที่เด็กๆ ที่ลงเรียนวิชานี้สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันที่ยังต้องดำเนินไปของตนเองได้ แต่สาระที่พาเด็กๆ เข้าสู่ความรู้สึกที่ลึกซึ้งที่มาพร้อมกับความเข้าใจที่ถ่องแท้เกี่ยวกับความตายคือ ชั่วโมงเรียนที่มีวิทยากร “ครูชัย-ศักดิ์ชัย ศรีวัฒนาปิติกุล” ได้เข้ามาให้ความรู้ และ แบ่งปันประสบกาณ์กับเด็กๆ ในเรื่องของการให้กำลังใจตนเองและคนรอบข้างเมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสีย ไม่ว่าสิ่งที่จากไปนั้นจะเป็น บุคคล สัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่สิ่งของที่ความสำคัญต่อใจของผู้ถือครอง
5 Stages of Grief หรือ 5 ระยะ ก้าวผ่านความสูญเสีย เป็นหนึ่งในเนื้อหาที่เด็กๆ ได้เรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจสภาวะอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสูญเสีย เริ่มต้นที่ ระยะที่ (1) ตกใจ กลัว กังวล ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ ระยะที่ (2) โกรธ ระยะที่ (3) ต่อรอง ระยะที่ (4) เสียใจ และ ระยะที่ (5) ยอมรับ หลังจากนั้นเด็กๆ ได้ร่วมตอบคำถามที่ครูชัยถามผ่านการเขียนในกระดาษส่วนตัว เช่น เราเคยสูญเสียอะไรไปบ้าง ? อะไรคือสิ่งที่เราต้องทำในวันนี้หากเราต้องจากไปในวันพรุ่งนี้ ? หนึ่งประโยคสุดท้ายที่เราจะพูดก่อนตายคืออะไร และอยากจะบอกประโยคนั้นกับใคร ? ระหว่างนั้น ครูชัยได้แบ่งปันประสบการณ์ที่เคยได้อยู่ร่วมผู้ป่วยโรคร้ายระยะสุดท้าย และพบว่าหลายครั้งผู้ป่วยอาจไม่ได้มีโอกาสกล่าวประโยคสุดท้ายอย่างที่ตั้งใจไว้ และในหลายครั้งการอยู่เคียงข้างผู้ที่ป่วย คอยรับฟังก็เพียงพอแล้ว เมื่อเขียนเสร็จแล้วเด็กๆ จะได้ฝึกกระบวนการฟัง เข้าใจ สะท้อน และยืนยัน ต่อเรื่องราวการสูญเสียที่แตกต่างกันไปของเพื่อนๆ การรับฟังด้วยหัวใจและปลอบโยนเพื่อด้วยความเข้าใจเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการนี้
ท้ายที่สุดแล้ว ความตายคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดำเนินเป็นวัฏจักร เราเรียนรู้มันเพื่อทำความเข้าใจ และเตรียมตัว ไม่ใช่เพื่อให้เกิดความกลัว เรามั่นใจได้ว่าหลังจบภาคเรียนนี้ เด็กๆ ในชั้นเรียนมรณศึกษาจะใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่าและรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันในชีวิตได้อย่างอย่างดีแน่นอน
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2566