ภาคสนามชั้น 6 : ระบบนิเวศของชายฝั่งทะเลบ้านขุนสมุทรจีนและพื้นที่ใกล้เคียงกับการพิสูจน์สมมติฐานการวิจัย

พาย้อนชมบรรยากาศภาคสนามในภาควิริยะของนักเรียนชั้น 6 เปิดประสบการณ์ให้เด็กๆ ได้ทดลอง สำรวจ สังเกต สัมภาษณ์ สร้างความเชื่อมโยง และประมวลสรุปว่าข้อมูลเหล่านั้นกำลังบอกอะไร พิสูจน์ว่ากิจกรรมทั้งหมดในสมมติฐานสามารถทำได้จริงในพื้นที่ชายฝั่งทะเลบ้านขุนสมุทรจีน ทั้งยังพิสูจน์ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทั้งหมด กับความงอกงามของป่าชายเลน และการเติบโตของผลผลิตชุมชนเกิดขึ้นได้จริง โดยได้เดินทางไปแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ดังนี้

  • ป่าชายเลนชุมชนบ้านบางอิน เป็นพื้นที่ที่มีป่าชายเลนที่ปลูกโดยชุมชน มีเส้นทางเดินสองฝั่งเป็นระยะทางเดินยาวประมาณ 150 เมตร ที่ชาวบ้านในชุมชนใช้หารายได้จากการเก็บหอยแครงถือได้ว่าเป็นแหล่งอาศัยของหอยแครงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
  • นากุ้งธรรมชาติในพื้นที่ของบ้านอาจารย์ศรีชัง อยู่ติดกับปากแม่น้ำบางตะบูนที่เชื่อมกับทะเลอ่าวไทย พื้นที่การเลี้ยงกุ้งของบ้านอาจารย์ศรีชังจึงเห็นการพึ่งพากันของระบบธรรมชาติแบบเกษตรเชิงนิเวศ อีกทั้งยังสามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้แนวป้องกันการกัดเซาะโดยการปลูกป่าชายเลนเพื่อเป็นแนวป้องกันคันดินนากุ้งอีกด้วย
  • โรงเรียนบางตะบูนวิทยาเป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่ป่าชายเลนอยู่หลังโรงเรียนติดกับชายฝั่ง ซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของกลุ่มนายทุนและชาวบ้านในการทำฟาร์มหอยแครงแต่ต่อมาทางโรงเรียนได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ป่าชายเลนในพื้นที่จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี
  • แนวป้องกันไม้ไผ่ชะลอคลื่นของหน่วยงาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นแนวไม้ไผ่ 2 ชั้นที่อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 30 เมตร แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ตกน้ำ (โฉนดตกน้ำ) ก่อนที่จะกลายเป็นพื้นที่สีแดงเนื่องจากมีน้ำทะเลกัดเซาะเข้ามาโดยในระยะเวลาประมาณ 10 ปี บริเวณนี้มีอัตราการกัดเซาะประมาณ 1 กม. หลังจากมีแนวป้องกันเกิดขึ้นเกิดผลเชิงประจักษ์จากการงอกของตะกอนและกระซ้าที่มาทับถมมากขึ้น และเริ่มมีการทดลองปลูกต้นไม้ป่าชายเลนหลังแนวป้องกันเพื่อช่วยชะลอความแรงของคลื่นอีกทาง
  • โรงเรียนธรรมชาติป่าชายเลน เป็นสถานที่เรียนรู้การอนุรักษ์ธรรมชาติที่สามารถเอาชนะธรรมชาติจากปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง โดยการปักไม้ไผ่ เป็นแนวกั้นความยาวกว่า 1,800 เมตร รวมทั้งฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมโดยมีผู้นำชุมชนจนสามารถพลิกผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้

ในภาคจิตตะนี้เด็กๆจะได้ลงพื้นที่เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่เป็นที่ไหนนั้นต้องรอติดตามตอนต่อไป

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566