ภาคสนามชั้น 6 : ปัจจัยความสำเร็จของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จ.สมุทรสงคราม

เรื่องเล่าจากภาคสนามชั้น 6 ภาคจิตตะ

“การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” คือ การท่องเที่ยวที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมของพื้นที่การท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้ง ‘หัวใจ’ ของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คือ ความจริงแท้ – ดั้งเดิม (REAL) ที่นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้มรดกวัฒนธรรมของพื้นที่ท่องเที่ยวผ่านประสบการณ์ตรงเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและชื่นชมจิตวิญญาณอันเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ นำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเพิ่มพูนศักยภาพของนักท่องเที่ยวอย่างไม่สิ้นสุด

ดังนั้น การเข้าใจและเข้าถึงการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่หนึ่งๆ นั้น จึงมิใช่การทำความรู้จักระหว่างกันอย่างผิวเผิน หากแต่นักท่องเที่ยวต้องเป็นนักเรียนรู้ พร้อมจะรู้จักพื้นที่อื่น คนอื่น สังคมวัฒนธรรมอื่น

การได้รู้จักสังคมวัฒนธรรมอื่นอันเป็นความหลากหลายนั้น เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในวิชามานุษและสังคมศึกษาของนักเรียนชั้น 6 เทอมจิตตะนี้ จากโจทย์วิจัย “อะไรคือปัจจัยความสำเร็จของการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์”

นักเรียนชั้น 6 ได้เตรียมตัวพร้อมทั้งการเรียนรู้ความหมายของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การศึกษาวิธีการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากกรณีตัวอย่างในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการเรียนรู้อัตลักษณ์ทางภูมิสังคม-วัฒนธรรมของท้องที่ต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ นักเรียนได้ทดลองนำความเข้าใจนั้นไปก่อร่างสมมติฐานเพื่อตอบต่อคำถามวิจัย และเมื่อการเรียนรู้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 นักเรียนชั้น 6ก็พร้อมแล้วที่จะเป็นทั้งนักท่องเที่ยวและนักเรียนรู้ เพื่อปรับปรุง เติมเต็ม ยืนยันสมมติฐานของตนเอง

  • ภาคสนามวันแรก “เที่ยวสวนยกร่อง ลองกวนน้ำตาลมะพร้าวแท้ ที่เตาตาลมิตรปรีชา”

นักเรียนจำลองตนเองเป็นนักท่องเที่ยว เรียนรู้ภูมิทัศน์ “สวนยกร่อง” อัตลักษณ์ทางการเกษตรกรรมของชาวสมุทรสงครามที่เป็นการ “ขุดร่องให้น้ำอยู่ ขุดอู่ให้น้ำนอน” เป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมของพื้นที่ปลายน้ำโดยขุดร่องสวน เพื่อรองรับน้ำทั้งยามมวลน้ำจืดจากผืนดินไหลลงอ่าวไทย ขณะเดียวกันก็รอบรับยามน้ำทะเลขึ้นสูง และปลูกพืชผลบนคันดินโดยเฉพาะมะพร้าวซึ่งชอบน้ำกร่อย ร่องสวนในจังหวัดสมุทรสงครามจะเชื่อมถึงทั่วกันจากร่องสวนสู่ลำประโดง จากลำประโดงสู่ลำคลอง และจากลำคลองสู่แม่น้ำแม่กลอง

เมื่อนักเรียนเข้าใจระบบเส้นทางน้ำด้วยภาพนี้ นักเรียนจะเกิดความเข้าใจระดับเชื่อมลึกไปถึงวิถีชาวสมุทรสงครามทั้งด้านระบบการค้า และการเดินทางสัญจรทางน้ำ วิถีบ้านเรือนริมน้ำของผู้คนในพื้นที่อันเป็นตัวตนของชาวสมุทรสงคราม ต่อยอดไปสู่การจัดการท่องเที่ยวที่มุ่งสร้างประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับ

  • ภาคสนามวันที่สอง “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน บ้านบางพลับ”

การเรียนรู้ในวันนี้ นักเรียนจะเห็นภาพว่า ทั้งชุมชนเมื่อมาร่วมมือกันเป็นวิสาหกิจแล้ว จะจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติได้อย่างไร นักเรียนผู้เป็นนักท่องเที่ยวได้เข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่การแปรรูปผลไม้เหลือทิ้งในสวนเป็นถ่านผลไม้ที่วิจิตรสวยงาม เรียนรู้การทำว่าวอย่างง่าย (และทดลองเล่น!) และทำขนมรังไรรสละมุนจากมะพร้าวในสวน ในขณะเดียวกัน เมื่อสลัดคราบนักท่องเที่ยว นักเรียนก็กลับมาสวมบทบาทนักเรียนรู้สอบถามแนวทางการจัดการท่องเที่ยวจาก “คุณลุงสมทรง แสงตะวัน” ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจบ้านบางพลับ

  • ภาคสนามวันสุดท้าย นักเรียนไปพิสูจน์ความเป็นนักเรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยวที่ตลาดน้ำท่าคา

ตลาดน้ำเก่าแก่แห่งนี้ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศยามเช้าที่เงียบสงบ พ่อค้าแม่ค้าคือคนในท้องที่ที่นำพืชผลจากสวนลำเลียงลงเรือพาย มาจำหน่ายสดๆ ถึงมือนักท่องเที่ยว นอกจากที่นักเรียนจะได้ลิ้มรสความสดชื่นจากผลไม้ และความสุกกรุ่นของขนมพื้นบ้านแล้ว ที่ตลาดแห่งนี้ยังมีกลุ่มเรือพายโดยคุณลุงคุณป้าตวัดฝีพายพานักเรียนนั่งเรือชมบ้านเรือน พันธุ์ไม้ สวนยกร่องริมสองฝั่ง เป็นความสงบ สนุก และเบิกบานที่แสนเรียบง่าย ขณะเดียวกัน นักเรียนก็ไม่ลืมที่จะเก็บข้อมูลโดยอิสระผ่านการสัมภาษณ์ทั้งพ่อค้าแม่ค้า นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงคุณลุงคุณป้านักพายเรือ เพื่อเข้าใจถึงเสน่ห์ของการจัดการท่องเที่ยวที่ได้เห็นตัวตนของคนในพื้นที่ โดยคนในพื้นที่ และเพื่อคนในพื้นที่

ก่อนกลับกรุงเทพฯ คุณครูพานักเรียนไปชมบรรยากาศของตลาดน้ำอัมพวา ในวันนี้ที่ตลาดเปลี่ยนไป แม้สองฟากฝั่งจะยังคงเป็นห้องแถวไม้อันเป็นอัตลักษณ์ที่มีมาเนิ่นนาน แต่สินค้าที่วางขายอยู่เรียงรายนั้นกลับสลับปนไปด้วยสินค้าจากต่างถิ่น ของแปรรูป และพ่อค้าแม่ค้าจากกรุงเทพฯ เสียงเรือยนต์ดังสนั่นผสมกลิ่นควัน นับเป็นภาพปิดท้ายที่ทำให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ได้เรียนรู้ตลอด ๓ วัน ซึ่งมีคนในพื้นที่เป็นเจ้าของ เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณแห่งตัวตนเชิงอัตลักษณ์ ก่อมิตรภาพระหว่างเจ้าบ้านและผู้มาเยือน เป็นพื้นฐานของการจัดการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืน

บันทึกโดย ครูวรรณวรางค์ รักษทิพย์ (ครูเปีย)

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2566