เราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน
ตั้งใจเข้ามาช่วยงานโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน และเพราะเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันเลี้ยงดู (It takes a village to raise a child.)
“หนูจะพาพ่อแม่มาที่นี่ ให้เห็นธรรมชาติเหมือนที่หนูเห็น”
เสียงสะท้อนเหล่านี้มาจากที่ไหนกันนะ…?
สุนทรียศาสตร์…สุนทรียะ(ตัวฉัน) + ศาสตร์(ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
หากเราอยากรู้จักป่า เราจำเป็นต้องเข้าป่า….นี่คือหนี่งชุดมุมมองที่เกิดขึ้นกับการเดินทางไปยังภาคสนามของเด็ก ๆ ชั้น 5 ภายใต้หัวข้อวิจัยที่ว่า นักเรียนจะฟื้นฟูระบบนิเวศในจังหวัดเพชรบุรีได้อย่างไร ?
คำตอบของคำถามอาจไม่เพียงพอในห้องเรียน การเรียนรู้ธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ สายน้ำ และขุนเขา
ล้วนหาคำตอบได้จาก…สุนทรียสัมผัส
เกษตรเชิงนิเวศ …สมดุลแห่งป่าไม้
กิจกรรมภาคสนาม ภาคเรียนฉันทะของเด็ก ๆ ชั้น 5 ในครั้งนี้ จึงพามาเรียนรู้ระบบนิเวศพื้นที่ต้นน้ำโอบล้อมด้วยอาณาเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากยูเนสโก และพื้นที่กลางน้ำป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง อำเภอท่ายาง คาร์บอนเครดิตแห่งแรก ทั้งหมดนี้เรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน
———————————-
จากชั้น 5 “เพลินพัฒนา” มุ่งหน้าสู่ “จังหวัดเพชรบุรี” กันเลย…
ระหว่างทางของเช้าที่เต็มไปด้วยความคิดของเด็ก ๆ ว่าป่าไม้คงจะเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำน่าดู เกิดคำถามขึ้นมา “ทำไมเราถึงเดินทางไกล เพื่อรับรู้กายใจของป่าไม้” และนี่คือการบ่งบอกให้รับรู้ว่าป่าไม้ก็มีชีวิตเหมือน
พวกเรา เต็มไปด้วยสายลม แสงแดด ที่เป็นอากาศคอยหล่อเลี้ยง ไม่ต่างจากเด็ก ๆ ที่ต้องการพึ่งพาอาศัย
การเรียนรู้ป่าไม้เป็นเพื่อนของเขา สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นความอัศจรรย์ใจ…เหมือนเพื่อนใหม่
ธรรมชาติที่สมบูรณ์กับจิตใจของนักการเรียนรู้
เราเริ่มต้นการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยพาเด็ก ๆ ทำการสำรวจในฐานะนักวิจัย
ตัวน้อย เข้าไปในผืนป่าที่เต็มไปด้วยพืชพรรณไม้หลากหลาย พร้อมกับสิ่งมีชีวิตที่เคยพบเจอและ
ไม่เคยพบเจอมาก่อน บางครั้งเราไม่สามารถค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ตได้ เราจึงผสมผสานกลมกลืนตัวเองเข้าไปให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งทั้งวันเด็ก ๆ ได้สำรวจเพื่อนำองค์ความรู้ที่สะสมมาจากชั้นเรียนลงสู่พื้นที่จริง ต่อมาในช่วงบ่ายก็ได้จัดฐานกิจกรรมที่แบ่งเป็น 3 ฐานด้วยกัน
ฐานแรก : ส่องสัตว์ป่าในพงไพร
“ป่านี้มีสัตว์อะไรบ้าง” คำถามที่เกิดขึ้นในใจของเด็ก ๆ บ่อยที่สุด
“ช้าง” “เสือ” “กระทิง” “นกเงือก” นี่เป็นคำตอบของวิทยากรที่เอ่ยชื่อเพื่อนใหม่ของเด็ก ๆ
ซึ่งมีชีวิต มีลมหายใจ มีกายสัมผัส ป่าไม้และสัตว์ป่า นี่แหละเพื่อนของฉัน
กิจกรรมที่ทำให้เด็ก ๆ ได้รู้จักธรรมชาติมากขึ้น คือการได้พบเจอสิ่งมีชีวิตในป่าที่เราแทบจะหาเจอได้ยาก
ได้ส่องดูธรรมชาติต่าง ๆ อีกทั้งให้พบเจอกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าจริง ๆ ซึ่งไม่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน
ฐานที่สอง : ศาสตร์และศิลป์ของแผนที่
เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชนิดของแผนที่ การอ่านแปลความแผนที่มาแล้วในห้องเรียน ในครั้งนี้เราจึงชวนเด็ก ๆ ศึกษาเรียนรู้พื้นที่นำมาประยุกต์วิเคราะห์ผ่านแผนที่จริง อีกทั้งชุดความรู้ต่าง ๆ ที่ก่อเกิดในห้องเรียนเมื่อเจอสถานที่จริง เด็ก ๆ จึงสามารถระบุได้ว่าคืออะไร…
ฐานที่สาม : สำรวจสิ่งมีชีวิตในผืนน้ำ
“มีผีเสื้อบินอยู่รอบ ๆ ทำไมผีเสื้อจึงชอบริมน้ำครับ”
และนี่คือความหลากหลายทางระบบนิเวศ พืชพรรณ สิ่งมีชีวิต เมื่อให้เด็ก ๆ มาสังเกตบริเวณพื้นที่จริงว่า
พบเจอสิ่งใดบ้าง และนอกเหนือสิ่งมีชีวิตแล้ว…สายน้ำที่ไหลผ่าน สายลมที่รู้สึกเย็นอย่างน่าแปลกใจ เด็ก ๆ
จึงนำไปเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับระบบนิเวศที่เรียนรู้ในห้องเรียนได้
———————————-
บ้านถ้ำเสือ
“ก้อนหินที่เรียงต่อกันนั้น คือความสามารถของผม”
“ใบไม้หลายใบเปลี่ยนเป็นดอกไม้หนึ่งดอกได้ หนูสร้างสรรค์เองค่ะ”
ณ บ้านถ้ำเสือ เด็ก ๆ สำรวจพื้นที่ป่าที่ได้ถูกจัดตั้งแบ่งเขตไว้แล้ว โดยให้ใช้องค์ความรู้ที่ได้จากห้องเรียน และเป้าหมายของการเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัย นอกจากนี้ระหว่างการก่อเกิดความรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธรรมชาติทั้งที่
มีชีวิตและไม่มีชีวิตล้วนเป็นศิลปะทางจิตใจที่เด็ก ๆ นำมาสร้างสรรค์และออกแบบโดยใช้ธรรมชาติเพื่อ
ผ่อนคลายอย่างเต็มที่ และนี่คือมุมมองของความสร้างสรรค์นำไปสู่การศึกษาอย่างมีอารมณ์สุนทรีย์
ป่าชุมชนโค้งตาบาง
เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เด็ก ๆ ได้พบเจอกับสภาพป่าที่แตกต่างจากวันแรก ซึ่งเด็ก ๆ ก็มีความมุ่งมานะในการพยายามเก็บเกี่ยวข้อมูลต่าง ๆ ที่พบเจอไม่ว่าจะเป็นการสังเกตพืชพรรณที่ปรากฎหรือการสอบถามจากวิทยากร และคอยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับผืนป่าที่กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งเด็ก ๆ ทุกคนร่วมกันศึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นเครื่องมือส่งต่อชนิดพืชพรรณให้รู้จักกันอย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม
สวนเกษตรบ้านลุงเปีย
และนี่คือพื้นที่สุดท้ายที่เด็ก ๆ ได้ไปศึกษา เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ก่อเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น ได้พบเจอพืชพรรณที่แตกต่างกันแต่กลับปลูกอยู่ร่วมกัน เพื่อจุดประสงค์ในการช่วยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อีกทั้งรูปแบบการนำผลผลิตมาแปรรูป แสดงให้เห็นถึงผืนป่าที่สามารถช่วยดูแลกันเองได้ โดยที่มนุษย์มีบทบาทในระบบนิเวศน้อยที่สุด
หลังจากนั้น เด็ก ๆ ก็เดินทางกลับโรงเรียนเพลินพัฒนา
โดยการไปภาคสนามในครั้งนี้ ทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้นอกห้องเรียน มากไปกว่านั้นคือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างลงตัว มุมมองการเข้าไปใกล้กับธรรมชาติให้เป็นเหมือนเพื่อน สุดท้ายเด็ก ๆ จึงมองเห็น
สุนทรียสัมผัสทั้งกายและจิตใจ และสามารถใช้ความรู้นี้ในการแลกเปลี่ยนได้ว่า คู่มือความสำเร็จในภาคสนามของฉัน คือ ธรรมชาติเหล่านี้
บทความโดย คุณครูชัชชัย นิลเสน (ครูดามพ์)
คุณครูฝึกสอนภูมิปัญญาภาษาไทย ช่วงชั้น 2
“การฝึกฝนเพื่อการเรียนรู้ที่ดี คือ คือการที่ครูและเด็กเป็นหนึ่งเดียวกัน ดั่งการเป็นหนึ่่งเดียวกันของธรรมชาติที่สมบูรณ์”
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2566