ภาคสนามชั้น 5 : ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ภาคสนามชั้น 5 ในภาควิมังสา ปีการศึกษา 2564 กับแนวคิดระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำโครงงานบูรณาการฐานวิจัย “เราจะสร้างธุรกิจสีเขียวขึ้นใหม่ในลักษณะใดที่ส่งเสริมธุรกิจสีเขียวที่มีอยู่แล้วในชนบทให้งอกงาม มั่นคงและยั่งยืน” โดยมี “สวนย่าชุ” ต. ดอนยายหอม อ. เมืองนครปฐม เป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ สวนเกษตรที่ใช้หลักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างลงตัว ที่จัดการพื้นที่ในการปลูกพืชผัก ขุดบ่อเลี้ยงปลา และแนวกำแพงธรรมชาติกินได้ มีการรวมตัวเพื่อนสมาชิก เพื่อนำผลผลิตมารวมกันเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า มีการแปรรูปสินค้าเพื่อจำหน่าย

ด้วยสถานการณ์โควิด 19 เด็กๆ ไม่สามารถลงพื้นที่จริงได้ คุณครูจึงปรับแผนพาชมสวนย่าชุผ่านคลิปวิดีโอ ชวนจับประเด็น ถอดความรู้ที่ได้ และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อนลงฐานทำกิจกรรมสนุกๆ ภายในโรงเรียน

สำรวจพื้นที่สวนเกษตรร้าน Rambler ของพี่บิ้วท์รุ่นพี่ศิษย์เก่าเพลินพัฒนาที่ปลูกพืชผักปลอดสารพิษ พาเด็กๆ ไปสำรวจความหลากหลายของพืช ได้เห็นลักษณะพื้นที่ และการนำพืชที่มีในพื้นที่มาใช้ประโยชน์

ฐาน “ปลูก” 

ทำกระถางต้นไม้จากขวดน้ำ เรียนรู้เรื่องการปลูกพืชรับประทานเองในพื้นที่จำกัด โดยนำวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่ในบ้านมาเป็นกระถางต้นไม้ ลดขยะ (Reuse) สร้างรายได้

ฐาน “ปรุง” 

ไข่เจียวพระอาทิตย์ โดยใช้พืชผักสมุนไพรในพื้นที่ที่ปลูกเองมาประกอบอาหาร และมีประโยชน์หลากหลาย มีสรรพคุณทางยา และเลือกกินสมุนไพรที่เหมาะกับธาตุเจ้าเรือน

ฐาน “แปร”

ไข่เค็มสมุนไพร การแปรรูป และสร้างมูลค่า โดยใช้พืชสมุนไพรที่ปลูกเองมาเป็นส่วนประกอบในการทำไข่เค็มสมุนไพร เป็นการประยุกต์เพื่อสร้างมูลค่า

“ถ้าเรารู้จักประโยชน์ของสิ่งๆนั้น อย่างถ่องแท้ เราจะมีแนวคิดใหม่ๆในการสร้างมูลค่าจากสิ่งนั้นได้อย่างหลากหลาย และเกิดประโยชน์มากที่สุด” คุณครูให้แนวคิดกับเด็กๆ หลังจบฐานกิจกรรม และพาชมวิทยากรแนะนำการสร้างมูลค่าของวัตถุดิบในสวนผ่านวิดีโอ ทั้งยังได้เตรียมสื่อจริงจากสวนย่าชุมาให้นักเรียน ฝึกสมองประลองความคิด ต่อยอดความรู้

“ จากผลผลิตทางการเกษตร ( มะพร้าว มะนาว ส้มโอ มะม่วง ชมพู่ มะละกอ ) เราจะนำมาสร้างมูลค่าเกิดเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมธุรกิจในชนบทได้อย่างไร ”

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2565