จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
ความหลากหลายของเมือง เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของนักเรียนชั้น 4 ภาคเรียนจิตตะ ที่มาจากโจทย์วิจัย “เมืองกับชนบทต่างกันอย่างไร เพราะเหตุใด” นักเรียนชั้น 4 ได้เตรียมตัวในชั้นเรียนด้วยการวิเคราะห์หาสาเหตุของความแตกต่างของเมืองและชนบท เพื่อที่จะนำมาใช้ในการออกภาคสนามในเมืองกรุงเทพฯ ด้วยการฝึกฝนทักษะวิธีในเรื่องการสังเกต สำรวจ และสัมภาษณ์ชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ อาทิเช่น ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนมหานาค ภูเขาทอง และพื้นที่บริเวณรถไฟฟ้า BTS ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนได้ทดลองนำความเข้าใจนั้น มาปรับปรุง ต่อยอด และยืนยันสมมติฐานของตนเอง ดังพื้นที่เรียนรู้ต่อไปนี้
ชุมชนกุฎีจีน “ชุมชนที่มี 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ” เป็นชุมชนเก่าที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในพื้นที่เรียนรู้แห่งนี้ครูได้สร้างแรงบันดาลใจ ให้นักเรียนเกิดคำถามที่สงสัย ใคร่รู้ ผ่านการ สังเกตด้วยตา และจากการสัมภาษณ์วิทยากร ระหว่างการเดินเข้าสู่ชุมชนกุฎีจีน นักเรียนได้เห็นถึงความโดดเด่นของชุมชนกุฎีจีนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เห็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทั้งในแง่ของวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ระหว่างชาวพุทธ ชาวคริสต์ และชาวอิสลาม
ชุมชนมหานาค ครูสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดข้อคำถาม ความสงสัย ใคร่รู้ ผ่านการสังเกตด้วยตา ในระหว่างการเดินบริเวณมัสยิดมหานาค นักเรียนเดินอย่างสำรวมเข้ามาภายใน มัสยิดมหานาค ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นศาสนสถาน ของคนในพื้นที่ชุมชนมัสยิดมหานาค ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ที่พวกเรานั่งอยู่ตอนนี้ คือ มัสยิดมหานาค ซึ่งเป็นศาสนสถานของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ครูแจกภารกิจพิเศษ โดยมี 2 ภารกิจด้วยกัน ดังนี้
ภารกิจที่ 1 ภาพปริศนา ครูมีภาพปริศนา(เป็นภาพสถานที่บริเวณชุมชนมัสยิดมหานาค) ให้กลุ่มละ 1 ภาพ และให้นักเรียนแต่ละกลุ่มตามหาว่าสถานที่หรือสิ่งของในภาพอยู่ส่วนไหนของชุมชนมัสยิดมหานาค และภาพนั้นมีข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมัสยิดมหานาคอะไรบ้าง และบันทึกคำตอบลงในสมุดภาคสนามของตนเอง
ภารกิจที่ 2 สัมภาษณ์บุคคลในชุมชน ครูมีเวลาให้นักเรียนวางแผนการเก็บข้อมูลกันในกลุ่มภาคสนามของตนเองภายในมัสยิดมหานาค บริเวณรอบมัสยิดมหานาค และบริเวณคลองมหานาค โดยนักเรียนเดินสำรวจ และสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนมหานาคให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่ตนเองสงสัย และต้องการอยากรู้คำตอบ
รถไฟฟ้า BTS เป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้เดินทางไปสวนเบญจกิติ โดยการนั่งรถโดยสาร BTS และMRT เพื่อให้นักเรียนได้ซึมซับ รับรู้ถึงบรรยากาศ ด้วยการสวมบทบาทการเป็นคนเมืองที่ต้องเข้ามาทำงานในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร นักเรียนจะได้สัมผัสถึงความเป็นย่านธุรกิจ ที่มีสิ่งปลูกสร้างรายล้อมอย่างหนาแน่น ผู้คนทำงานที่เดินสวนกันไปมา และมีการจราจรที่วุ่นวาย ผ่านการสังเกตด้วยทุกผัสสะทั้งกายและใจ
สวนเบญจกิติ มีสะพานเขียวที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ ในบริเวณจุดเชื่อมนี้มีชุมชนคลองเตยที่ยังเป็นชุมชนเล็กๆท่ามกลางตึกสูงที่โอบล้อม ในพื้นที่นี้นักเรียนได้ใช้ทักษะการสำรวจสังเกตผ่านการทำภารกิจ “ตามหาภาพปริศนา” เพื่อชวนนักเรียนสังเกตลักษณะทางกายภาพ ความเป็นเมือง ในบริเวณนี้นักเรียนได้เห็นสวนสาธารณะที่อยู่ใจกลางเมือง และชุมชนบริเวณสะพานเขียว ที่อยู่ท่ามกลางตึกสูงที่โอบรอบพื้นที่สีเขียวเล็กๆนี้ นอกจากนี้ยังได้ฝึกคุณลักษณะ ความอดทนไม่ย่อท้อต่อสภาพอากาศที่ร้อน และการวางแผนการทำงานร่วมกันเป็นทีมอีกด้วย
ภูเขาทอง “หากเราขึ้นไปยืนอยู่บนจุดที่สูงที่สุดของภูเขาทองนักเรียนคาดว่าเราจะพบเห็นอะไรบ้าง ?” คำถาม check in ที่ชวนนักเรียนตั้งสายตาก่อนทำภารกิจภาคสนามที่แหล่งเรียนรู้วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ที่จะทำให้ได้เห็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ลักษณะสิ่งก่อสร้าง ความหนาแน่น ของสิ่งก่อสร้าง แหล่งที่อยู่อาศัยในชุมชนเก่าและใหม่ ในกรุงเทพมหานครฯ
การออกภาคสนามของนักเรียนช่วงชั้น 2 โรงเรียนเพลินพัฒนา ถือหัวใจหลัก 3 ประการ คือ เป็นคนดีมีสุข เป็นครูของตัวเอง และเป็นคนเก่งที่แท้จริง ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ซึ่งเป็นค่านิยมสำคัญที่ถูกประยุกต์ใช้ในการไปภาคสนามของนักเรียนชั้น 4 ครั้งนี้ และยังคงเน้นการเสาะแสวงหาองค์ความรู้นอกชั้นเรียน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พาหัวใจของนักเรียนทุกดวงไปค้นคว้า เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปใช้ในการหาคำตอบของกรอบวิจัยที่ว่า “เมืองและชนบทต่างกันอย่างไร และ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น”
บันทึกโดย ครูโหน่ง ครูเกด ครูมน ครูเตย ครูกิ๊ฟ และ ครูนัท (คณะครูประยุกต์ ชั้น 4)
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2566