ภาคสนามชั้น 4 : นิเวศป่าชายเลน

“นิเวศป่าชายเลน” กิจกรรมภาคสนามของเด็กๆ ชั้น 4 ในสัปดาห์ที่ 6 ของภาคเรียนฉันทะ ตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน เด็กๆ ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน จากพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดเพชรบุรี และสวนเกษตรเชิงนิเวศบ้านลุงอู๊ด เด็กๆ ได้ใช้ความสามารถ กระบวนการคิด ที่สามารถมองเห็นความสำคัญของป่าชายเลนจากความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต ในระบบนิเวศป่าชายเลน เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงกับหลักเกษตรเชิงนิเวศ และตกตะกอนออกมาเป็นก้อนความคิดต่าง ๆ นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณค่า ภายใต้หัวข้อวิจัยที่ว่า “จะใช้หลักเกษตรเชิงนิเวศเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลน ในจังหวัดเพชรบุรีได้อย่างไร”

เช้าที่สดใสของเด็ก ๆ ชั้น 4 ตลอดการเดินทางจาก โรงเรียนเพลินพัฒนา ไปสู่ จังหวัดเพชรบุรี ความรู้สึกของเด็ก ๆ เต็มไปด้วยความพร้อมในการเรียนรู้ และความตื่นเต้นของการไปภาคสนามครั้งแรก

กิจกรรมในวันแรกของเด็ก ๆ เริ่มต้นด้วย กิจกรรม รอยต่อสองน้ำ

เด็ก ๆ เริ่มสังเกตและจดบันทึกจากสิ่งที่เห็น ของพื้นที่สะพานเฉลิมพระเกียรติ บริเวณรอยต่อสองน้ำปากอ่าวบางตะบูน เด็ก ๆ สังเกตเห็นลักษณะพื้นที่ที่แตกต่างกันของบริเวณฝั่งแม่น้ำ กับฝั่งทะเล และค่อย ๆ เกิดคำถาม และบอกเล่า ชี้ชวนให้เพื่อน ๆ ร่วมสังเกตจากสิ่งที่เห็น “ทำไมสองฝั่งสะพานเฉลิมพระเกียรติ น้ำถึงมีสีต่างกันคะ” “เราโบกมือทักทายพี่ ๆ ที่แล่นเรือประมงผ่านไปด้วย ปลาเต็มเรือเลยนะ”กิจกรรมนี้ทำให้เด็ก ๆ เห็นความเชื่อมโยงของรอยต่อสองน้ำ วิถีชีวิตของคนปลายน้ำ และสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของสิ่งที่สังเกตเห็น จากบริเวณสองฝั่งสะพานได้อย่างชัดเจน

กิจกรรมยังคงดำเนินต่อไป ความตื่นเต้นที่พร้อมจะเรียนรู้ ของเด็ก ๆ ยังคงมีท่วมท้น ในวันแรก เด็ก ๆ ได้เริ่มต้นการเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน ณ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ ป่าชายเลนชุมชนบางขุนไทร ในระหว่างการเรียนรู้ เด็ก ๆ ต่างมีคำถามที่เกิดขึ้นในใจ “เราจะพบเห็นอะไรบ้างนะ ในป่าชายเลน“ เมื่อเด็ก ๆ ได้มาสำรวจ สังเกตบริเวณพื้นที่จริง ทำให้ได้ซึมซับสภาพแวดล้อมของป่าชายเลน ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช และสัตว์ ชวนพาเด็ก ๆ ตื่นตาตื่นใจ

“ที่นี่ปลาตีนตัวใหญ่จัง” “หนูเห็นปูมีหลายสีเลยค่ะ” “ลูกปลากระบอกรวมกลุ่มแวกว่ายในน้ำ” “ใบชะครามมีรสเค็มจริงๆไหมคะ” กิจกรรมนี้ได้ก่อเกิดทำให้ เด็ก ๆ ได้มองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน ที่นอกเหนือจากความรู้ในห้องเรียน

ป่าชายเลนโรงเรียนบางตะบูน และ ป่าชายเลนบ้านอาจารย์ ศรีชัง อารมณ์สว่าง

วันที่สองของกิจกรรมภาคสนาม เด็ก ๆ ชั้น 4 ยังคงมีความมุ่งมั่นทั้งพลังกายและพลังใจ พร้อมสำรวจ สังเกตระบบนิเวศป่าชายเลน และในวันนี้นอกจากความรู้จากคุณครูที่มอบให้ ยังได้รับความรู้จาก อาจารย์ ศรีชัง อารมณ์สว่าง ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นกับป่าชายเลน ในจังหวัด เพชรบุรี เพื่อสร้างความตระหนักให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจ และมีแนวคิดสร้างสรรค์ต่อยอดเพื่อ ฟื้นฟู ดูแลรักษาระบบนิเวศป่าชายเลนต่อไป เด็ก ๆ ตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้กันอย่างเต็มที่ จดบันทึกความรู้ลงสมุดภาคสนามกันอย่างแข็งขัน หลังจากกิจกรรมสำรวจ สังเกตป่าชายเลนเสร็จ เด็ก ๆ ได้กลับมาแลก-เปลี่ยนประมวลความรู้ เล่าเรื่องความประทับใจให้แก่เพื่อนๆชั้น 4 ณ ที่พักบ้านสวนทรายทอง รีสอร์ท และมีกิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้ จากคุณครูพัฒนาชีวิต ที่ทำให้เด็ก ๆ ได้ผ่อนคลาย และสร้างเสียงหัวเราะให้แก่กันและกัน หลังจากที่ได้ร่วมเรียนรู้กันมาตลอดทั้งวัน ถึงแม้อากาศจะร้อนมากแค่ไหน เด็ก ๆ ชั้น 4 ก็ไม่มีความย่อท้อ เก็บเกี่ยวความรู้ สิ่งที่น่าสนใจกันอย่างดีเยี่ยม

สวนเกษตรบ้านลุงอู๊ด

เข้าสู่วันที่สามของกิจกรรมภาคสนาม ซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายที่เด็ก ๆ จะได้มาเก็บเกี่ยวความรู้ ก่อนกลับโรงเรียน เป็นพื้นที่ที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้หลักเกษตรเชิงนิเวศ ได้พบเจอพืชพรรณ การเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลาย ที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในสวนเกษตร ให้พืชได้ดูแลซึ่งกันและกัน โดยที่มนุษย์มีบทบาทในระบบนิเวศให้น้อยที่สุด เด็ก ๆ เดินชมสวนเกษตรเชิงนิเวศ และจดบันทึกความรู้ เพื่อนำมาแลก – เปลี่ยน ซักถามข้อสงสัยกับคุณลุงอู๊ด เพื่อนำหลักเกษตรนิเวศไปปรับใช้ในการสร้างงานวิจัยของตนเอง หลังจากนั้น เด็ก ๆ ได้เดินทางกลับถึงโรงเรียนเพลินพัฒนาโดยสวัสดิภาพ

การไปภาคสนามในครั้งนี้ ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน ได้เห็นความหลากหลาย ความเกื้อกูลกันของสิ่งมีชีวิต การได้เรียนรู้จากความรู้ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน การได้อยู่กับธรรมชาติ และที่สำคัญ เด็ก ๆ ได้สร้างสมประสบการณ์ดี ๆ ของการอยู่ร่วมกันกับเพื่อน ๆ และคุณครู เสียงสะท้อนของเด็ก ๆ หลังจากกลับมาจากภาคสนาม ที่แสดงออกว่ามีความสุข และสนุกกับกิจกรรมภาคสนาม ยิ่งเป็นสิ่งดีๆที่เกิดขึ้น ว่ากิจกรรมภาคสนามในครั้งนี้ได้สร้างสรรค์ประสบการณ์ดีๆ สร้างความประทับใจให้แก่คุณครู และเด็ก ๆ ชั้น 4 ทุกคน

บทความโดย

ครูทักษพร สวัสดิไชย (ครูมน)

ครูธรรมชาติและประยุกต์วิทยา

“การหาความรู้ คือความพยายามที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2566