“พระอภัยมณี” ละครสอนใจ สะท้อนความสำคัญของคำว่า “ครอบครัว”

นี่อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ยินเรื่องราวของ พระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร หรือแม้กระทั่งชื่อของเกาะแก้วพิสดาร แต่จะมีสักกี่ครั้งที่เราได้ยินวรรณคดีไทยทรงคุณค่าเรื่องนี้ในฉบับที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อสอนใจแก่เด็กๆ ในวัยเรียน

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา เด็กๆ ช่วงชั้นที่ 2 ได้ใช้เวลาช่วงบ่ายก่อนกลับบ้านในการรับชมการแสดงละครเรื่อง “พระอภัยมณี หนีนางผีเสื้อสมุทร” จากคณะละครมรดกใหม่ สำนักศิลปะการละครเพื่อการพัฒนา โดยการเข้าชมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาโครงงานดนตรีชีวิต ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนผ่านวิถีการละคร รวมถึงเป็นการเปิดประสบการณ์การสร้างละครเพื่อสื่อสารความคิด ความรู้สึกไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองและบุคคลรอบข้าง ตลอดการแสดง ตัวละครแต่ละตัวนั้นจะเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยการแทรกมุมมองและความนึกคิดของตนเอง และอาศัยการถามความคิดเห็นจากเด็กๆ ด้วยเพื่อนำพาให้ขบคิดในสิ่งที่ได้รับชม สิ่งที่น่าใจคือตัวละคร สินสมุทร ซึ่งนำแสดงโดยน้องวัย 10 ขวบเท่านั้น นับเป็นวัยเดียวกันกับเด็กๆ ที่เป็นผู้ชม จึงก่อให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครได้เป็นอย่างดี

เรื่องราวในละครครั้งนี้สะท้อนภาพคำว่า “ครอบครัว” ที่แตกต่างกันไปในมุมมองตัวละครแต่ละตัว ตั้งแต่พระอภัยมณีที่แม้ไม่เคยรักนางผีเสื้อสมุทรเลย แต่ก็รักลูกที่เกิดจากนาง จึงคิดวางแผนจะหนีไปพร้อมลูก ส่วนนางยักษ์เองก็ทวงถามความรักที่ตนมีให้ จากการปรนนิบัติสามีและลูกอย่างดี แล้วเหตุใดจึงทำเช่นนี้กับนาง ส่วนสินสมุทรผู้เป็นลูกนั้น ใจหนึ่งก็อยากจะช่วยให้พ่อหนีเพราะรักพ่อ แต่อีกใจหนึ่งก็รักแม่ของตนเช่นกัน ถึงแม้จะกลัวผู้เป็นแม่หลังจากที่นางคืนร่างยักษ์และเริ่มอาละวาด อย่างไรก็ตามสินสมุทรก็ยังต้องการให้พ่อและแม่ของตนกลับมาอยู่ด้วยกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์

ละครทุกเรื่องย่อมมีฉากสุดท้าย และในตอนท้ายของละครเรื่องนี้ ตัวละครทั้ง 3 ตัว ได้ถามความคิดเห็นของเด็กๆ ช่วงชั้นที่ 2 ว่า เราควรตัดสินใจแบบใดเพื่อช่วยครอบครัวนี้ เด็กๆ จึงได้เลือกให้ครอบครัวนี้กลับมาอยู่ด้วยกัน เพื่อเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์อีกครั้ง อาศัยการปรับความเข้าใจ ยอมรับความแตกต่าง และสินสมุทรยังได้รับบทบาทที่สำคัญ ในฐานะลูก ผู้เป็นดั่งกาวช่วยสมานรอยร้าวในครอบครัว

ละครสอนใจในครั้งนี้ไม่ได้ให้เพียงแค่ข้อคิดเท่านั้น แต่ยังได้สร้างเสียงหัวเราะให้แก่เด็กๆ ตลอดการแสดง อีกทั้งยังมีการเชิญผู้ชม ทั้งคุณครู และเด็กผู้โชคดีให้มีส่วนร่วมในการแสดงบทบาทพิเศษสั้นๆ ในละครอีกด้วย และกลายเป็นอีกหนึ่งสีสันที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุกสนานกับละครจนลืมเวลาเลยทีเดียว

ถึงแม้ละครจะจบลง แต่สิ่งที่เด็กๆ ทุกคนได้รับกลับบ้านไป คือ การได้เรียนรู้ที่จะรัก ใส่ใจ ทะนุถนอมครอบครัวของตนเองในชีวิตจริง ในฐานะลูกคนหนึ่ง ที่เป็นส่วนสำคัญไม่ต่างจาก พ่อ แม่ ในคำว่า “ครอบครัว” หากเราเลือกหันหน้าเข้าหากัน และแก้ปัญหาด้วยความรัก รับฟังเสียงของกันและกัน โดยเฉพาะเสียงของผู้เป็นลูก ไม่ว่าจะมีรอยร้าวมากี่ครั้งในความสัมพันธ์ โซ่ทองคล้องใจที่ชื่อว่า “ลูก” นั้น ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้ครอบครัวแข็งแกร่งได้ดังเดิม

หมายเหตุ : นักแสดงไม่สวมหน้ากากเพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงอรรถรส เห็นสีหน้าที่ชัดเจน ส่วนผู้ชมให้สวมหน้ากากตลอดเวลา

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2565