ปัจฉิมนิเทศ ชั้น 12 “วิหคเหินฟ้า ปีการศึกษา 2557

 “วิหคเหินฟ้า” ชื่อรุ่นของพี่ๆ ชั้น ๑๒ ที่คุณครูให้การขนานนาม ด้วยบุคลิกของเด็กช่างคิด ช่างพูด บนพื้นฐานจิตใจที่ดีงาม ประกอบกับรุ่นนี้นับเป็นพี่ชั้น ๑๒ รุ่นที่ ๖ ที่จบจากรั้วเพลินพัฒนา และพร้อมจะโบยบินสู่โลกกว้าง

ปัจฉิมนิเทศชั้น ๑๒ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม คุณทนง โชติสรยุทธ์ ครูใหญ่ช่วงชั้นมัธยม และผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นประธานในพิธี กล่าวให้โอวาท พร้อมด้วยคุณครูวีณา ว่องไววิทย์ หัวหน้าช่วงชั้นมัธยม หรือ “ครูส้ม” ของนักเรียน และคณะครูมัธยมร่วมอำลา ผูกข้อมือ และอวยพรให้นักเรียนทุกคน

ก่อนตัวแทนนักเรียนชั้น ๑๒ มอบของที่ระลึก ที่ร่วมกันบรรจงสร้างสรรค์ขึ้น .. ชิ้นหนึ่งเป็นเสื้อที่เด็กๆ ออกแบบกันเอง พร้อมลายมือเขียนของทุกคน อีกชิ้นหนึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ “ก้าว…พอ…ดี” ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนเพลินพัฒนา ที่มีการเชื่อมโยงให้เห็นเป็นสามมิติ สัญลักษณ์แห่งการถักทอเครือข่ายโยงใยในชุมชนเพลินพัฒนา “ขอขอบคุณโรงเรียนเพลินพัฒนา ขอบคุณคุณครู และเพื่อนๆ ทุกคน ที่ทำให้รู้จักตัวเอง คุณครูที่เพลินฯ ไม่ได้สอนแต่วิชาความรู้ หากแต่ยังให้มุมมอง และวิธีคิด การแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงสามารถโต้แย้งกันได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ

สิ่งที่เพลินพัฒนาได้หล่อหลอมพวกเรา ทำให้นึกถึง “กล้วยดิบ” ที่ครูแมนส่งให้เมื่อสักครู่ (ครูแมน กล่าวว่า กล้วยคืออาหารมื้อแรกถัดจากนม ที่พ่อแม่ป้อนให้กับลูกๆ ทุกคน ครูก็เหมือนพ่อแม่คนที่สอง ที่พร้อมให้ความรัก ความปรารถนาดีกับนักเรียนเช่นลูกคนหนึ่ง นอกจากนี้กล้วยยังมีคุณค่า ใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น เช่นเดียวกับนักเรียนทุกคน ที่ควรสร้างคุณค่าแก่ตนเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ควรเป็นคนดี และสร้างคุณค่าให้สังคมเช่นกัน) ถึงแม้ขณะนี้ เราทุกคนยังไม่สามารถกินมันได้..! แต่หากเรารู้จักการรอคอย รอให้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม อีกไม่เกินนานมันจะสุกงอมให้เรากิน… เช่นเดียวกับเราทุกคนที่นั่งอยู่ในวงล้อมแห่งความห่วงใย และปรารถนาดีแห่งนี้ ที่ยังต้องการ การบ่มเพาะ และสะสมประสบการณ์ จนถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม สุกงอมพร้อมให้คุณค่าต่อผู้รับประทาน… พอพูดถึงเรื่อง “กล้วย..กล้วย” ทำให้นึกถึงได้อีกอย่างหนึ่งว่า… ปกติแล้ว กล้วยมันจะปล่อยแก๊สออกมาเพื่อให้ตัวเองสุก แต่เมื่อใดก็ตามที่กล้วยมาอยู่ด้วยกัน ๒ ลูก มันก็จะแบ่งแก๊สให้กัน ทำให้สุกเร็วขึ้น เฉกเช่นพวกเราชั้น ๑๒ “วิหคเหินฟ้า” ที่อยู่ร่วมกัน แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ให้แก่กัน รวมถึงช่วยกันพัฒนาจนกระทั่งสุกงอม กล้วยแต่ละลูกก็จะมีประโยชน์ ไม่ว่าจะทำให้คนอื่นอิ่ม ทำให้ตัวเราอิ่ม หรือแม้แต่แบ่งกันอิ่มนั่นเอง” …ตัวแทนนักเรียนชั้น ๑๒ โรงเรียนเพลินพัฒนา

2 กุมภาพันธ์ 2558