ทำงานกลุ่มอย่างมีพลัง ตามก็ทัน นำก็ได้

บันทึก : ทำงานกลุ่มอย่างมีพลัง ตามก็ทัน นำก็ได้

วิทยากร: ศ.คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์

Positive Parenting : โรงเรียนเพลินพัฒนา

Zoom Meeting : อังคารที่ 25 พฤษภาคม 2564

การทำงานร่วมกันเป็นทีม…ไม่ได้เริ่มต้นที่โรงเรียน หากแต่เริ่มต้นได้ตั้งแต่ที่บ้าน..😊

ลูกเราสามารถเล่นได้ทั้งบทนำและบทตามหรือไม่ หากคิดแต่จะนำอย่างเดียว ไม่มีเทคนิควิธีการ มองไม่เห็นคนอื่น สิ่งที่ตามมา..อาจเป็นความทุกข์ใจ (เช่น ต้องทำคนเดียว ทะเลาะกับเพื่อน โกรธกับทีม) หากรับบทตามได้อย่างเดียว ก็อาจแปลได้ว่าความสามารถไม่มากพอ ไม่หลากหลายพอ เลยรับบทนำไม่ได้

การเรียนรู้ผ่านการทำงาน ทำให้เกิดพัฒนาการ 4 ด้าน คือ

พัฒนาการทางร่างกาย

พัฒนาการทางความคิด

พัฒนาการทางอารมณ์

พัฒนาการทางสังคม

การทำงานคนเดียว ลองผิดลองถูกอยู่คนเดียว ผลสำเร็จเกิดจากเราคนเดียว เราได้ความภูมิใจ แต่พัฒนาการอาจขึ้นไปไม่สูงสุด หากเป็นในบ้าน พ่อแม่เรียกลูกมาเรียนรู้ทำไปด้วยกัน พ่อแม่ย่อมมีประสบการณ์มากกว่า ลูกเห็นวิธีการ ทำตามได้เร็วกว่า ในส่วนโรงเรียนก็ไม่ควรเป็นแค่การสั่งงาน แต่ครูควรจะลงไปร่วมด้วยช่วยกันกับเด็กนักเรียน❤

ในบ้าน..กิจกรรมหรืองานแบบไหนที่ฝึกการทำงานเป็นทีมได้บ้าง? แล้วนอกบ้านเราฝึกผ่านอะไรได้อีก?

เส้นทางการฝึกอาจมีตั้งแต่งานง่ายๆ ไปจนถึงงานยาก ฝึกงานที่ 1 จากไม่เป็นจนเป็น >> จากเป็นจนชำนาญ >> แล้วไล่ไปงานที่ 2 จากไม่เป็นจนเป็น >> จากเป็นจนชำนาญ >> แบบนี้ไปเรื่อยๆ (ไม่ใช่ประถมต้นพับผ้าห่มได้ จบประถมปลายก็ยังพับผ้าห่มได้อย่างเดียว😅 จากล้างแค่ล้อ..ฝึกไปจนล้างรถทั้งคันได้ด้วยตัวเองคนเดียว) งานแต่ละส่วนใช้ความสามารถไม่เหมือนกัน เพิ่มปริมาณ เพิ่มขีดความสามารถ จนสามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง

แล้วถ้าหากเราไม่ฝึก หรือฝึกแต่ไม่สม่ำเสมอ >> เด็กเรียนรู้ที่จะหลบเลี่ยง/หนีงาน >> เบี้ยวงานได้ในขณะที่แม่ทำแทน + ยอมทนฟังแม่บ่นอีกหน่อย → เรากำลังฝึกด้านตรงข้ามของการทำงานเป็นทีม!

เมื่อเด็กไปโรงเรียน >> ใช้วิธีนี้ด้วย >> ยอมทนฟังเพื่อนบ่น/ครูบ่นหน่อย >> หากการใหัคะแนนของงานกลุ่มที่โรงเรียนเป็นการให้คะแนนจากผลงานเพียงอย่างเดียว → กลายเป็น “ภาพลวง” ที่ว่าเด็กทำงานกลุ่มได้ แต่ในความเป็นจริง function ไม่ได้เลย😢

การให้คะแนนงานกลุ่ม จึงควรมีคะแนนแยก ที่ให้จากการทำงานตามบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลไว้ด้วย

นอกจากนี้ การใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านเป็นอย่างไร

– น้องไม่ต้องทำงานก็ได้

– บางครั้งน้องก็ได้รางวัลทั้งที่ไม่ต้องทำอะไรเลย

– แถมแม่ยังคุมน้องไม่ได้อีก

เด็กฉลาดจะไตร่ตรองได้ว่า…เขาจำเป็นต้องฟังพ่อแม่มากน้อยแค่ไหน!

ที่โรงเรียน…

– เพื่อนได้คะแนนเท่ากัน แม้เพื่อนไม่ได้ทำงาน

– การที่เด็กจะช่วยเพื่อน ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราฝึกสอนมาก่อนด้วย ลูกรู้ >> ลูกทำได้ >> ลูกสามารถพัฒนาไปถึงจุดที่ถ่ายทอด/สอนผู้อื่นได้หรือไม่?

– บางครั้งสังคมการทำงานก็ไม่ได้ต้องการคนที่เก่งมาก (แต่ติดกับดักความเก่งของตนเอง จนกลายเป็นจุดอ่อนของทีม) อาจจะต้องการคนที่กลางๆ ไม่ต้องเก่งมาก แต่เกื้อกูลคนอื่นได้

– ครูต้องมีหลักบริหารจัดการกลุ่ม ต้องแฟร์ คละความสามารถ หากมีคนที่ไม่ทำงานมากเกินไปในกลุ่ม คนที่ทำได้ก็จะท้อแท้

– เด็กที่ไม่ทำงานกลุ่ม ครูสามารถนัดหมายพ่อแม่เพื่อมาคุยทำความเข้าใจกันได้หรือไม่ หากพ่อแม่ไม่ action ร่วมด้วย ลูกก็ยากที่จะแก้ไข

– อย่างไรก็ตาม หัวใจของการทำงานกลุ่ม คือ มันต้องมีปัญหาอยู่แล้ว พ่อแม่มีหน้าที่รับฟัง ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ช่วยกันหาวิธีแก้ปัญหาได้ แต่ลูกจะต้องไตร่ตรองและเลือกวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง >> สิ่งนี้คือการฝึกทักษะ Leadership

– ปัญหาที่คนนำก็ไม่ยอมตาม คนตามก็นำไม่ได้ เพราะไม่มีใครฟัง >> ครูก็ต้องรู้ไส้!😅 ต้องตามให้ทัน

– ไมใช่เพียงแค่ผลงานสำเร็จ ทีมประสบความสำเร็จ แต่หากแม้ผลงานยังไม่สำเร็จ แต่ทีมยังกลมเกลียว ยังมีพลังที่จะไปต่อได้ แบบนี้ต่างหากที่สำคัญ! 💪✌

แต่บ้าน..จะหวังพึ่งโรงเรียนอย่างเดียวมิได้ เพราะบ้านสามารถฝึกได้หลากหลายสถานการณ์มากกว่า (ไปตั้งแคมป์ ไปต่างจังหวัด ต่างประเทศ) โรงเรียนมีสถานการณ์น้อยกว่า (จากการที่ครูมอบหมายงาน) แต่โรงเรียนสามารถต่อเติมวิธีการ หลักการของการทำงานกลุ่มให้เพิ่มขึ้นได้

ช่วงโควิด บางบ้านช่วยกันทำข้าวกล่องไปแจกคนยากจน ทำเจลแอลกอฮอล์ไปแจกชุมชน เด็กอยู่ตรงไหนของกระบวนการ ได้ร่วมด้วยช่วยกันมากน้อยแค่ไหน เด็กอาจช่วยจนสามารถแจกแจงการทำงานได้ว่าตรงส่วนไหนยาก ส่วนไหนง่าย เกิดการเรียนรู้เรื่องโควิดได้โดยอัตโนมัติ และเป็นการเรียนรู้การทำงานเป็นทีมผ่านสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นจริง👍

ลูกเรียนรู้ผ่านการอยู่ร่วมกัน เรามี authority มากน้อยแค่ไหน ลูกจะประเมินผ่านท่าทีของเราด้วย! สิ่งที่เราพร่ำสอน vs. สิ่งที่เราทำ เหมือนกันหรือไม่? เราเป็นคนคร่ำครวญ ถอยหนีเมื่อเจอปัญหา หรือตั้งสติได้และมุ่งมั่นหาทางแก้ไข สำคัญคือเราวาง position ตัวเองอย่างไร!? หากเราเป็นต้นแบบที่ดีไม่ได้ เราก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมา เพราะเด็กจะซึมซับจากคนที่เขารัก..พ่อ แม่ หรือคุณครูบางท่าน

ฐานที่บ้านจึงสำคัญ ลูกควรได้รับการฝึก พัฒนาอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ เพราะด้วยสภาพแวดล้อมและโรงเรียนที่ค่อนไปทางดีแล้ว ในความเป็นจริง เด็กน่าจะไปได้ดีและไกลกว่านี้ แต่เราพ่อแม่ต้องยอมเหนื่อยด้วย ไม่เช่นนั้นลักษณะเด็กที่หน่อมแน้มอาจจะไม่ฟิตกับการเรียนแบบนี้ หรือไม่ก็ต้องกลับไปเรียนแบบเดิม แบบครู lecture อย่างเดียว ตัวใครตัวมัน เรียน/ทำงานคนเดียว

เมื่อครูมอบหมายงาน ลูกเรามีการรับรู้ที่ไวหรือไม่ ฐานกายสมองที่สมบูรณ์ เชื่อมโยงกับอารมณ์ สังคม และความคล่องแคล่วในการทำงาน ทำให้เกิดการเรียนรู้ ยิ่งทำงานยิ่งสนุก ผ่านการล้มแล้วลุก ผ่านความทุกข์ยากไปด้วยกัน การทำงานกลุ่มก็ต้องส่งเสริมพัฒนาการ เด็กต้องเก่งขึ้น พัฒนาขึ้นรอบด้าน ในแง่นี้การทำงานกลุ่มจึงจะเป็นการเรียนรู้สูงสุด

อย่าเข้าใจผิดว่า..เราเมตตา ทั้งที่จริงเรากำลังละเลยการฝึกสอน ท้ายที่สุด ต้องมานั่งเสียใจกับ…สิ่งที่ควรฝึกแต่ไม่ฝึก สิ่งที่ควรเอาจริงกลับไม่เอาจริง และสิ่งที่ไม่ควรทำแต่ดันทำ😢

อย่างไรก็ตาม การเป็นพ่อแม่เป็นหนทางที่ทำให้เราอยากพัฒนาและฝึกฝนตนเอง😊

ขอให้ทุกบ้านมีความสุขกับการเลี้ยงลูกนะคะ…คุณหมอเหมียวกล่าวทิ้งท้าย🥰

=================================

ขอขอบคุณแม่บิว (พุฒิ ชั้น 6 / พีค พราว ชั้น 3) ที่ช่วยสรุปความรู้แบ่งปันครั้งนี้ด้วยนะคะ

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2564