ทบทวนและตั้งหลักสู่ศตวรรษใหม่ในมุมการศึกษา กับ ครูปาด-ศีลวัต ศุษิลวรณ์

"ธรรมชาติของสมองชอบสิ่งท้าทายและทำงานได้ดีเมื่อถูกท้าทาย แต่ถ้าสิ่งท้าทายนั้นมันโหดร้ายเกินไป ธรรมชาติของสมองอีกเช่นกัน มันก็จะหาที่ปลอดภัย ฉะนั้นการท้าทายต้องไม่ไปถึงจุดที่สมองตีความว่าเป็นอันตราย ถ้าสมองตีความว่าเป็นอันตรายมันจะหนี แต่ถ้าตีความว่าเป็นจุดท้าทายมันจะสู้ ธรรมชาติของสมองทำงานกับสิ่งท้าทายเสมอ อันนี้เป็นข้อมูลทางวิชาการ"

ข้อจำกัดคือสิ่งที่สร้าง creativity ถ้าเราให้การเปิดกว้างที่เวิ้งว้าง creativity จะไม่เกิด การให้เสรีภาพภายนอกแบบไร้ข้อจำกัด ประโยชน์ด้านการสร้างสรรค์มันจึงน้อย แม้จะมีประโยชน์เพื่อการพักผ่อนหรือฟื้นฟูสภาพอ่อนล้า ทรุดโทรม แต่การหาข้อจำกัดที่เหมาะสมนี่แหละที่จะก่อเกิด creativity ที่งอกงามขึ้นจากเสรีภาพภายใน

นักการศึกษาต้องสร้าง challenge ให้กับผู้เรียนในระดับที่เขารู้สึกว่ามันสู้ได้ หรืออีกมุมหนึ่งสร้างกำลังใจให้กับผู้เรียนว่า สู้ได้ๆ ดังนั้นสมองก็จะเริ่มตีความว่า “เฮ้ย สู้ได้ๆ” และโจทย์ที่ให้ก็ยากในระดับที่มันเห็นรำไรว่าสู้ได้ ซึ่งการให้สมองได้เห็นรำไรว่าสู้ได้ แล้วฝึกให้เด็กมีกำลังใจชอบเล่นกับโจทย์ที่เห็นโอกาสรำไร สุดท้ายสมองจะพัฒนาความสามารถและความกล้าหาญออกไปเรื่อยๆ จนแม้แต่โจทย์ที่เห็นทางตันก็ยังอยากเล่น

เพราะคุณค่าแท้ของการเรียนรู้ คือการที่เด็กรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ใช่คุณค่าเทียมที่เหมือนขนมหวาน คุณค่าแท้ก็คือว่า บนความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย หรือไปจนถึงความทุกข์ มันทำให้เขาดีขึ้นได้ รู้สึกดีกับตัวเองที่สามารถทำได้ เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง เป็นความสุขของจิตใจที่มีสุขภาพสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม หากจะทำให้เด็กไทยพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคตได้ การศึกษาในยุคนี้จะต้องทำให้เด็กรักสิ่งยาก รักการทำงานหนัก ชอบความเหนื่อย แต่ไม่ใช่เป็นคนบ้างาน workaholic ลักษณะนั้นเป็นการบ้าความสำเร็จที่เป็นเชิงลบ เป็นการทำงานหนักเพราะอยากยืดศักยภาพ เป็นเชิงบวก รู้สึกว่าตัวเองดีขึ้นแล้วมีความสุข นี่คือลักษณะที่เรียกว่าเป็นการศึกษา ซึ่งเป็นธรรมชาติของสมองที่ชอบเรื่องยากๆ ด้วย

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร

ข้อมูล ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2564