ชื่นใจ…ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ 15

ดร. ชุมสุข สุขหิ้น

” เป็นปีแรกที่ได้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์งานชื่นใจครู ได้มีโอกาสเฝ้ามองโรงเรียนเพลินพัฒนามาตั้งแต่เป็น ‘อิฐก้อนแรก’ ในช่วงที่มีการปฏิรูปการศึกษา ขณะที่สังคมมีการเรียกร้องแต่มีผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารกลุ่มหนึ่งที่มีวิสัยทัศน์ไม่เรียกร้องแต่ลงมือทำเลยก่อเกิดเป็นโรงเรียนเพลินพัฒนา

เมื่อดูในเว็บไซต์ก็มีคำถามว่าขณะที่สังคม โรงเรียนอื่นดูรีบเร่ง แต่ที่เพลินพัฒนา ‘ก้าวพอดี’ ผมเฝ้าดูมาตลอดคิดว่า โรงเรียนเพลินพัฒนาไม่น่าใช่โรงเรียนทางเลือก น่าจะเป็น ‘โรงเรียนที่ควรจะเป็น’

วันแรกที่มางานชื่นใจครูได้เข้าไปในห้องและได้ดูบอร์ด สะดุดตากับสมุดงานของครู เปิดทีละหน้า ยืนอ่านและรู้สึกว่าวางไม่ลง นั่งอ่านเล่มที่ 1 2 3. . อ่านแล้วไม่เหมือนงานวิจัยอื่นๆ มีสิ่งที่ต่าง ไม่เหมือนที่ไหนเลย งานวิจัยอื่นจะมองออกไปข้างนอก ที่นี่มองย้อนเข้ามาที่ตัวครู เป็นเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ทำอะไรออกมาจากใจเพื่อมุ่งไปสู่ใจเด็ก

ผมประเมินจากการสังเกตลูกสาว ‘น้องเพลินใจ’ อยู่ชั้น 1 เมื่อกลับมาบ้าน ลูกสาวจะนั่งทำแผนจัดการเรียนรู้ ผมจึงได้เรียนที่คุณครูสอนทุกวิชาทั้งภาษาไทย คณิตศาสตร์ ESL ดีที่บ้านไม่กว้างงั้นคงได้เรียนรักบี้ด้วย …

มีทั้งสาธิตการสอน ตรวจงานให้ดาว และกล่าวชื่นชม รู้เลยว่าเขาได้ซึมซับมาจากคุณครู… สิ่งนี้ที่เข้าไปสู่หัวใจเด็ก “

บางส่วนจากพ่อชุม – ดร. ชุมสุข สุขหิ้น (น้องเพลินใจ ชั้น ๑) คณะทำงานประกันคุณภาพการศึกษาโดยผู้ปกครอง (QA)

ชื่นใจได้เรียนรู้…ภาคครูเพลินครั้งที่ 15 เมื่อ 25 – 27 มีนาคม 2562 มีเป้าหมายเพื่อให้คุณครูเห็นภาพห้องเรียนที่เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้อย่างแท้จริง ซึ่งประกอบไปด้วย OLE ที่มี Constructive Learning / Formative Assessment: In-Process Assessment & Development (I-PAD) / Collaborative Learning / Metacognition

ให้ผลลัพธ์เกิดขึ้นกับผู้เรียน 5 ประการ

  • มีเจตคติ ความเพียร ความเป็นเจ้าของในการเรียนรู้อย่างชัดเจน
  • นำความรู้และทักษะเดิมมาสร้างเป็นความรู้ทักษะใหม่
  • กำกับการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง
  • ร่วมเรียนรู้และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • สะท้อนประเมินการเรียนรู้ของตนเองและเรียนรู้การเรียนรู้ของตนเองและผู้อื่น

ในปีนี้จึงมีโจทย์ให้คุณครูทุกคนศึกษาจากหนังสือ ‘วิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครู’ และบันทึกการใคร่ครวญตัวเองอย่างสม่ำเสมอตามแนวทางคำถามที่มีอยู่ในเล่มวิจัยชั้นเรียนเปลี่ยนครูและเขียนการใคร่ครวญนั้น

ขณะเดียวกันคุณครูรุ่นพี่ที่เป็น “โค้ช” ตามหาแผนการเรียนรู้ที่มีองค์ประกอบสำคัญทั้ง 5 ประการเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้ชัดเจน และเก็บภาพกิจกรรมการเรียนรู้ของกลุ่มวิชาต่างๆ มานำเสนอเป็นนิทรรศการเพื่อหมุนเวียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

บรรยากาศของงานชื่นใจ…ได้เรียนรู้(ภาคครูเพลิน) ปีนี้จึงเต็มไปด้วยการรวมพลังใจ พลังความคิดจากคุณครูหน่วยวิชาต่างๆ ระดับประถมเพื่อร่วมถักทอการเรียนรู้ ร่วมแลกเปลี่ยนทั้งกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่จากการอ่านใคร่ครวญงานเขียนของเพื่อนครูด้วยกัน และชมนิทรรศการ “แว่นส่องห้องเรียน” จากโค้ชรุ่นพี่ก่อนร่วมสะท้อนการเรียนรู้ รวมทั้งสร้างแผนการเรียนรู้ และปรับพัฒนาแผนเพื่อให้ “เข้าถึงใจเด็ก”

คุณครูทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจพร้อมพากันก้าวเดินไปข้างหน้า พร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่า

“การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าต้องการให้เกิดขึ้นที่ใด ล้วนต้องเกิดขึ้นภายในตัวเองก่อน”