ชื่นใจ…ได้เรียนรู้ ช่วงชั้น 2 : ภาคเรียนวิมังสา 2565

การนำเสนอโครงงานชื่นใจได้เรียนรู้ช่วงชั้นที่1 และ ช่วงชั้นที่ 2 เป็นการเรียนรู้บูรณาการ เชิงโครงงานฐานวิจัยที่ผสมผสานศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน ประกอบด้วย

🌸ปุจฉา (Question) ปลุกพลังของความสงสัยใฝ่รู้ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ให้ออกมาเป็นโจทย์วิจัยที่น่าสนใจ นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีคุณค่า

🌸ทำนาย (Guess) สำรวจค้นคว้าหาข้อมูลและความรู้ที่หลากหลาย และการประมวลสรุปข้อมูลและความรู้เหล่านั้น เป็นความคิด และจินตนาการที่มีระเบียบเหตุผล หลักฐานและการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เพียงพอที่จะตั้งขึ้นเป็นสมมติฐานการวิจัย

🌸ทดสอบ (Test) ว่าสมมติฐานการวิจัยที่สร้างขึ้นมีความเป็นจริงอยู่เพียงใด สามารถทดสอบ และผลการทดสอบมีลักษณะเช่นใด โดยเริ่มจากจินตนาการอันหลากหลาย ติดตามด้วยการออกแบบการทดสอบ และการลงมือทดสอบอย่างประณีต แม่นยำ

🌸ทบทวน (Review) ขับเคลื่อนแรงส่งของการทำงานที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นสู่การประมวลสรุป ประเมินสะท้อนการวิจัยที่ได้ทำไปทั้งหมด จนออกมาเป็นคำตอบของโจทย์วิจัย และปลุกพลังของความสงสัยใฝ่รู้ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ให้แตกตัวออกมาเป็นการอภิปราย สิ่งที่ได้จากการวิจัย ที่ไม่ได้คาดหมาย และมองต่อไปข้างหน้าว่าจะทำอะไรต่อ

QGTR จึงเป็นหัวใจสำคัญให้คุณครูใช้เป็นแนวทางในการนำพาเด็กๆ เรียนรู้อย่างเป็นลำดับขั้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของการเรียนรู้บูรณาการเชิงโครงานฐานวิจัย ซึ่งจะเห็นภาพชัดของกระบวนการทำงานอย่างเข้มข้นในช่วงชั้นที่ 2 โดยได้รับโจทย์โครงงานที่ค่อยๆเพิ่มความท้าทายแตกต่างกัน

  • ชั้น 4 การศึกษาเปรียบเทียบความเหมือน – ความต่างและสาเหตุความเหมือน – ความต่างระหว่างเมืองกับชนบท กรณีศึกษา พื้นที่เมือง (กรุงเทพมหานคร) กับชนบทภาคกลาง (บ้านห้วยสะพาน จ.กาญจนบุรี)
  • ชั้น 5 ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจสีเขียวในบริบทภูมิสังคม-วัฒนธรรมของ จ.ราชบุรี
  • ชั้น 6 อะไรคือปัจจัยความสำเร็จของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใน จ.สมุทรสงคราม

หากได้มีโอกาสเข้ามาชมการนำเสนอของเด็กๆ จะได้พบกับนิทรรศการที่เชื่อมร้อยเส้นทางการเติบโตของเด็กๆ ที่คุณครูได้สอดแทรกสุนทรียะ ความละเอียดอ่อนให้เด็กๆ ควบคู่กับแนวคิดเชิงเหตุผลไว้ได้อย่างกลมกลืน

“ แม้ว่าการวิจัยจะอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่แข็งแรงมากก็ตาม แต่จิตวิญญาณของการวิจัยนั้น มีธรรมชาติเป็นศิลปะ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับพลังของแรงดลบันดาลใจ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ คุณครูต้องดูแลให้นักเรียน ได้พัฒนาทางด้านศิลป์และศาสตร์ อย่างเต็มที่และมีดุลยภาพที่เหมาะสม”

คุณครูศีลวัติ ศุษิลวรณ์ (ครูปาด) ผู้เป็น”ครูของครู”ได้ให้แนวคิด

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม 2566