ชื่นใจ..ได้เรียนรู้ประถมปลาย : วิจัยพาเพลิน

“วิกฤตโควิด” กลายเป็น “โอกาส” ในการเติมพลังการเรียนรู้และการกำกับตัวเองเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่นักเรียนแต่ละคนตั้งไว้ งานชื่นใจ….ได้เรียนรู้ช่วงชั้นประถมในปีการศึกษา 2563 นี้จึงใช้ “วิจัยพาเพลิน” เป็นแกนโดยมุ่งหมายให้นักเรียนมองเห็นความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยง ความสามารถในการเรียนรู้การเรียนรู้ของตัวเอง และในส่วนที่เป็นไฮไลท์ของการนำเสนอคือการสร้างความรู้ใหม่ ผู้วิจัยนำความรู้เดิมชุดใดมาสร้างความรู้ใหม่ สร้างด้วยวิธีใด และความรู้ใหม่ที่ได้คืออะไร

สำหรับในช่วงชั้นประถมปลายการทำงานวิจัยเริ่มจากให้เด็กๆ ได้เห็นผังคำสำคัญของเนื้อหาทั้งหมดในวิชามานุษและสังคมและวิชาธรรมชาติฯ จากนั้นเด็กๆจะเริ่มเลือกสรรคำสำคัญจากผังนั้นเพื่อนำมาต่อยอดเป็นหัวข้อวิจัยของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องราวเนื้อหาที่ตนเองสนใจจริงๆ ก่อนเข้าสู่กระบวนการสืบค้นข้อมูลเพื่อนำมาวิจัย เด็กๆ เริ่มค้นหาความรู้จากจุดเริ่มต้นนี้มาเรื่อยๆ กระทั่งเกิดเป็นคำถามวิจัย และต่อยอดเป็นความรู้ใหม่จากงานวิจัยของตนเอง โดยคุณครูมีกระบวนการสอนที่มีรายละเอียดและขั้นตอนเหมาะสมกับวัยและสมรรถนะของผู้เรียน เริ่มต้นในทุกคาบเรียนจะมีช่วงเวลาสร้างภาวะพร้อมเรียนรู้ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ ตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นใจและมุ่งมั่นในการเรียนรู้วันนี้ สำหรับกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละครั้งเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ หรือเชื่อมโยง จะเน้นการสร้างตัวอย่างที่เข้าใจง่าย สื่อการสอนที่เหมาะกับวัย จนกระทั่งก่อเกิดการเรียนรู้ขึ้นกับผู้เรียนได้ด้วยตนเองก่อนเชื่อมโยงไปสู่หัวข้อวิจัยของตัวเองแล้วจึงลงมือทำงานวิจัยในส่วนต่างๆ ต่อไป

==========================
การเติบโตของหนูที่คุณครูและพ่อแม่มองเห็น
==========================

ครูโหน่ง คุณครูนาถนัดดา ชื่นแสงเนตร์ ชั้น 4

“ เด็กๆ มีการเติบโตในเรื่องความรับผิดชอบต่อการทำงานของตัวเองมากขึ้น วางแผนการทำงานได้เป็นระบบชัดเจนขึ้น มีการประเมินงานกับเวลาที่มีในการทำงานของตัวเอง อีกทั้งยังมีความอดทนต่อการเผชิญความยากลำบากกับการทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจและมุ่งมั่นมากขึ้น เด็กๆรู้ว่างานวิจัยเป็นงานที่ไม่สามารถทำครั้งเดียวแล้วเสร็จ แต่งานวิจัยคือการพัฒนางานไปเรื่อยๆ คำตอบที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นการทำงานวิจัยจึงต้องใช้ความพยายามและะตั้งใจอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง”

คุณแม่น้องเอ็นเจ ด.ช. ชยพล เสกจินดา ชั้น 5

(เอ็นเจทำวิจัยเรื่องน้ำยาทำความสะอาดท่อจากน้ำซาวข้าว ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพื่อลดการใช้สารเคมี)

“เอ็นเจเติบโตด้วยตัวเองขึ้นมาอีกหนึ่งปี ปีนี้ผู้ปกครองชื่นชมชื่นใจได้เรียนรู้ผ่าน Zoom ตามสถานการณ์ป้องกัน covid -19 จากการซักซ้อมคืนก่อนนำเสนอ ทำให้รู้ว่าลูกเติบโตด้วยตัวเองขึ้นมามาก รู้ว่าอะไรคือไม่ชอบ น่าเบื่อ ยาขม แต่มันคือหน้าที่ที่ต้องทำ รู้ว่าไม่เข้าใจ ต้องสื่อสารอย่างไร รู้ว่างานช้าเพราะอะไร เพราะแม่เริ่มปล่อยมือให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ค้นคว้าเอง ใช่ไม่ใช่ให้ไปถามครู งานจึงแก้บ่อยมาก จนถึงวันนำเสนอจึงทำให้รู้ว่าหนูรู้จริงๆ ไม่ใช่แค่ว่าคือวิจัยที่ต้องส่ง ชื่นชมวิธีคิด แนวคิดและการประยุกต์วิชาต่างๆ ในงานวิจัย ชื่นชมเด็กๆทุกคนที่เติบโตด้วยตัวเองในงานวิจัย ชื่นชมคุณครูที่อดทนกับเด็กๆที่มีความคิดหลากหลาย ชื่นชมโรงเรียนที่พยายามปรับการสอนในช่วงวิกฤต”

ครูเปีย – คุณครูวรรณวรางค์ รักษทิพย์ ชั้น 6

“ สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือความเพียรพยายามทำสิ่งยาก มองเห็นคุณค่าของความเพียร เด็กๆ เข้าใจกระบวนการวิจัยมากขึ้น ตั้งคำถามที่นำไปสู่การหาคำตอบด้วยกระบวนการวิจัยได้ มีทักษะการสืบค้นเพิ่มพูนขึ้น สามารถเลือกใช้คำสำคัญ และเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็ว สำหรับกระบวนการสร้างความรู้เกิดจากการได้ฝึกซ้ำต่อเนื่อง ประกอบกับครูนำเครื่องมือจินตทัศน์มาฝึกคิดเชื่อมโยงเป็นเหตุผล ทำให้นักเรียนต่อยอดความเข้าใจด้วยตนเองสู่เรื่องที่ซับซ้อนขึ้นได้ และในส่วนการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของตนเองนั้นเกิดจากการที่ครูให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายและ AAR ให้นักเรียนเห็นจุดเด่นและจุดที่ต้องพัฒนาของตนเอง จากนั้นจึงนำปัญหามาพูดคุยกัน นำตัวอย่างงานมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชื่นชมกัน นักเรียนเห็นงานเพื่อนแล้วเกิดใจอยากพัฒนาด้วย โดยร่องรอยการพัฒนาถูกบันทึกใน aar รายครั้ง ”

ครูนัท – ครูนันทกานต์ อัศวตั้งตระกูลดี ชั้น 6

“เด็กๆ สามารถมองเห็นความยากง่ายในการทำวิจัยที่ชัดเจน ตั้งแต่ขั้นตอนการตั้งประเด็นปัญหา การหาข้อมูล และจัดระบบข้อมูล สู่การออกแบบแผนการวิจัย เด็กๆ สะท้อนสิ่งที่เติบโตขึ้นด้านการหาข้อมูลที่ชัดเจน ตรงประเด็นคำถามมากขึ้นรวมทั้งทักษะการย่อความสรุปความ ทั้งยังมีการใช้เครื่องมือจินตทัศน์มาจัดระบบความคิด และข้อมูลต่างๆ ได้ดี พอเห็นความสำเร็จของตนเอง จากแรกๆ ที่รู้สึกว่ายาก ไม่อยากเรียน ก็กลายเป็นชอบเรียนวิจัยมากขึ้น เพราะหัวข้อหรือคำถามวิจัย มาจากความสนใจของตนเอง”

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2564