เปิดประสบการณ์ใหม่ให้เด็กๆกับค่าย F1 in School
ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ (7-11 ตุลาคม 2567 ) ทาง KX: Knowledge Exchange ได้มาจัดค่าย F1 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองรถแข่ง Formula 1 ขนาดจิ๋ว...
นิทานสร้างสรรค์ขึ้นได้ด้วยแรงบันดาลใจ … แรงบันดาลใจก่อเกิดขึ้นได้ด้วยการอ่านนิทาน บนโลกที่หมุนเร็วส่งผลให้การอ่านถูกลดทอนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนังสือถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิทัลที่ฉับไวกว่า อย่างไรก็ตามการอ่านผ่านหนังสือ ได้พลิกไปทีละหน้ายังคงหล่อเลี้ยงให้เด็กๆเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งพ่อแม่ได้ใช้เวลาอ่านด้วยกันกับลูก ชี้ชวนสังเกต ตั้งคำถาม ยิ่งทำให้นิทานแสนสนุกเล่มนั้นยิ่งสนุกขึ้นทวีคูณ สายสัมพันธ์ ความใกล้ชิดคือเกราะสร้างความมั่นคงในจิตใจให้ลูกได้เสมอ
เราได้พบความหมายจากการอ่านที่ชัดเจนขึ้นเมื่อได้พูดคุยกับ “นายคงภัทร ฉายากุล (เรน)” หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลจากโครงการนิทานแสนดีจากพี่สู่น้อง ที่โรงเรียนจัดขึ้น กับนิทานเรื่อง : รถดัมพ์คันน้อย ตอน ตัวอักษรที่หายไป
เสน่ห์จากการเล่าเรื่องของเรนถูกซ่อนอยู่ในรูปภาพและตัวหนังสือทุกหน้าที่ทุกคนมาช่วยกันคลี่คลายเรื่องวุ่นๆในสนามบินจนกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติและออกเดินทางได้ดังเดิม
เรนชื่นชอบการอ่านการ์ตูน หนังสือสอนทำอาหาร และหนังสือเกี่ยวกับยานพาหนะเกือบทุกประเภททั้ง เครื่องบิน รถยนต์ เรือ ไปจนถึงยานอวกาศ เขามีความสนใจ “รถเครน” เป็นพิเศษ สามารถอธิบายเกี่ยวกับรถเครนทั้งคุณสมบัติและประเภทรถต่างๆได้เป็นอย่างดี เรนสามารถใช้เวลานั่งอ่านหนังสือที่เขาชื่นชอบในห้องสมุดได้หลายชั่วโมงต่อเนื่อง
“รถเครนเท่ และรถเครนยังออกเสียงคล้ายกับชื่อเล่นของ ‘เรน’ แค่เอา ‘ค’ ออกก็อ่านออกเสียงเหมือนกัน ผมอยากขับรถเครนครับ แต่กลัวตกรถ รถเครนเอาไว้สำหรับยกของ มีอยู่ในนิทานเรื่องนี้ด้วย ส่วนรถคันเล็กๆในเรื่องคือรถดัมพ์ ผมก็ชอบเหมือนกันครับ ” เรนเล่า
จากความชอบส่วนตัวถูกเรียงร้อยมาเป็นนิทานแสนดีที่สอดแทรกความรู้เรื่องยานพาหนะ และ Alphabet ทั้งยังใส่ความคิดสร้างสรรค์ชวนให้เรื่องน่าติดตาม นอกจากรถดัมพ์คันน้อยในเรื่องนี้ยังมียานพาหนะอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งรถ ATV รถขยะ เครื่องบิน แอร์บัส เรนยกให้รถดัมพ์คันน้อยเป็นพระเอกของเรื่องเพราะตัวเล็กแต่มีพลังมหาศาล คอยช่วยหาสิ่งของต่างๆ เรนยังบอกอีกว่านิทานเรื่องนี้สามารถอ่านได้ทุกเพศทุกวัย
อกจากนี้เรนยังหาจังหวะแทรกคติธรรมในนิทานของเขาได้อย่างลงตัว เช่น ช่วงตอนหนึ่งของเรื่อง ทุกคนช่วยกันหาสิ่งต่างๆรอบตัวเพื่อแปลงเป็นอักษรตัว “D” น้องเรนต้องชั่งใจระหว่าง Dog หรือ Doll และสุดท้ายเขาตัดสินใจเลือกใส่ตุ๊กตา (Doll) ลงไปในเครื่องแทน Dog เพื่อมอบชีวิตกลับให้สุนัขตัวน้อย และยังคงได้ตัวอักษร “D” เช่นเดียวกัน
“ถ้าใส่ Dog ลงไปจะผิดศีลข้อ 1 คือฆ่าสัตว์ ถ้ายุงกัดแล้วอย่าตบ ขอให้ชอบเรื่องของผมนะครับเพราะเรื่องของผมสนุก ได้ความรู้เรื่องรถ เรื่อง Alphabet และการทำบุญไม่ฆ่าสัตว์ด้วย” เรนเล่าอย่างมีความสุข
“หลายๆ คนจะไม่เคยเห็นมุมนี้ของเขา มุมของการเป็นนักอ่าน และนักแต่งนิทาน จะเห็นแค่ว่าเขาเดินไปเดินมา และชอบส่งเสียงดัง สำหรับคุณครูแล้วนี่คือความภูมิใจ เพราะปกติเรนจะมีปัญหาเรื่องการเรียบเรียงเนื้อเรื่อง เมื่อส่งต้นฉบับไปคุณครูทุกคนพร้อมให้โอกาสแก้ไขต้นฉบับ ครูช่วยให้คำแนะนำและช่วยปรับตามสิ่งที่เขาคิด รู้สึกภูมิใจมากที่น้องเรนได้เผยศักยภาพของตนเองให้คนอื่นได้เห็นว่าเขาก็ทำได้” คำบอกเล่าจากครูนิล – คุณครูที่ปรึกษา
การพูดคุยครั้งนี้สะท้อนเบื้องหลังความคิดที่เรนพยายามถ่ายทอดจินตนาการ ความรู้สึกนึกคิดความรู้ต่างๆอย่างดีที่สุดที่ได้จากการเป็นนักอ่านมาสู่นิทานเล่มแรก ขอขอบคุณครอบครัวที่เป็นส่วนสำคัญช่วยปลูกนิสัยรักการอ่าน คอยสนับสนุนในสิ่งที่เขาชอบ ให้ความร่วมมือกับโรงเรียนเป็นอย่างดีเพื่อร่วมกันพัฒนานักเรียนไปสู่ศักยภาพสูงสุด เป็นกำลังใจให้เรนสร้างสรรค์นิทานต่อไปอีกหลายๆ เล่มนะคะ
ปิดเทอมนี้อย่าลืมใช้เวลาคุณภาพร่วมกับเด็กๆ ให้เขาได้เลือกนิทานเล่มโปรดมานั่งอ่านกับคุณพ่อ คุณแม่หรือชวนกันแต่งนิทานสนุกๆ ปลุกจินตนาการ เติมความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกๆกันนะคะ
ติดตามอ่านนิทาน: รถดัมพ์คันน้อย ตอน ตัวอักษรที่หายไป ที่ห้องสมุดกลาง โรงเรียนเพลินพัฒนา
ผู้แต่ง : นายคงภัทร ฉายากุล (เรน)
ชั้น 10 ปีการศึกษา 2566
นักเรียนในโครงการเรียนร่วมแผน ข
จัดการเรียนการสอนตามแผนการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (IEP: Individual Education Plan) และเรียนร่วมในบางวิชา ได้แก่ วิชาแสนภาษา แนะแนว ดนตรี กีฬา
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2566