ความเพียรของ “ครูนัท”

ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไปในรั้วเพลินพัฒนาสิ่งหนึ่งที่สัมผัสและรับรู้ได้คือความมุ่งมั่น ตั้งใจของคุณครูที่ไม่เคยหยุดพัฒนา

การมองย้อนสะท้อนตน ทบทวนตัวเอง เพื่อการพัฒนาจึงไม่เพียงเกิดขึ้นกับเด็กๆ เท่านั้น คุณครูก็ทำเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

คุณครูนันทกานต์ อัศวตั้้งตระกูลดี (ครูนัท) ครูหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ระดับชั้น 6 คือคุณครูคนหนึ่งที่ถอยกลับมามองตนเอง แล้วเลือกสวมหัวใจเป็นนักเรียน … เพราะอะไร และผลที่เกิดขึ้นเป็นเช่นไร ติดตามได้จากบทความนี้นะคะ

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นครู ตั้งแต่วันแรกที่เรียนจบปริญญาตรีหมาดๆ มาจนถึงวันนี้ผ่านมา 12 ปีแล้ว แต่เป็น 12 ปีที่ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นมากมาย

จุดเริ่มต้นแห่งการมองเห็น … คือ ปีการศึกษา 2557 เป็นปีที่มีโอกาสได้เรียนรู้และเป็นครูคู่วิชากับครูใหม่ (วิมลศรี ศุษิลวรณ์) ได้สร้างแผนการเรียนรู้ และได้เห็นห้องเรียนที่เต็มไปด้วยบรรยากาศความอยากรู้อยากเรียน ห้องเรียนที่ทำให้นักเรียนเบิกบานกับการเรียนรู้ เพราะสิ่งที่ได้เรียนรู้จากห้องเรียนของครูใหม่อย่างเด่นชัดก็คือ เมื่อครูสร้างแผนการเรียนรู้อย่างมีสุนทรียสัมผัส บรรยากาศการเรียนรู้ก็จะเต็มไปด้วยความผ่อนคลาย สงบ และเบิกบาน ได้เห็นครูที่อ่อนโยน ใจเย็น และเป็นผู้ฟังที่ดี เห็นครูที่ให้คำชื่นชมและแนะนำที่ดีกับนักเรียนเสมอ ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้จะเกิดขึ้นไมได้เลย หากครูไม่ทุ่มเทใฝ่รู้กับสิ่งที่จะสอนนักเรียน

แม้ว่าแผนการสอนจะปรับเปลี่ยนไปโดยทำให้การเรียนรู้ภูมิปัญญาภาษาไทยเต็มไปด้วยสุนทรียสัมผัส แต่ผลเจตคติก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ทำให้เห็นได้ว่า ต้นเหตุสำคัญที่มีผลต่อความสนใจใฝ่รู้ หรือความอยากเรียนของนักเรียนก็คือ “ครู” เพราะเมื่อครูสอนเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ทำให้ความสนใจใฝ่รู้ในเรื่องที่สอนลดลง ความสดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน ส่งผลให้ครูมีความคาดหวังต่อผลงานและการเรียนรู้ของผู้เรียน จึงเข้มงวดและเข้าไปเป็นเจ้าของการเรียนรู้ รวมทั้งอารมณ์ครูที่ไม่มั่นคง ทำให้ชั้นเรียนไม่มั่นคงเช่นกัน

ในปีการศึกษา 2563 จึงเป็นปีที่ตั้งใจและมีเป้าหมายที่อยากจะพัฒนาความเป็นครู โดยเริ่มต้นจากเรื่องใกล้ๆ ตัว คือ การเริ่มต้นด้วยรอยยิ้ม 🙂 และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ปรับบรรยากาศให้การเรียนรู้เต็มไปด้วยความผ่อนคลายทั้งครูและนักเรียน ทำให้การเรียนรู้ “บางเบา และ พริ้วไหว” เช่นเดียวกับลายไทย และการเข้าใจ Learning style ของนักเรียนที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น จึงออกแบบการเรียนรู้และบรรยากาศการทำงานด้วยการทำโจทย์งานสร้างสรรค์อย่างอิสระ ภายใต้ความชอบความสนใจของนักเรียนแต่ละคนและเป็น “ครูที่มีหัวใจเป็นนักเรียน”

ผลงานหนังสือเดินทางประเทศไทยคือตัวอย่างหนึ่งที่ให้อิสระเด็กๆได้เลือกการสร้างสรรค์รูปแบบหนังสือเดินทางและเนื้อหาที่สะท้อนความเป็นไทยตามความสนใจของเด็กๆ แต่ละบุคคล

จากเป้าหมายดังกล่าวจึงทำให้ผลเจตคติในปีการศึกษา 2563 ดีขึ้น และทำให้ความรู้สึกไม่อยากเรียนเป็น “ศูนย์” ในครั้งแรก จากผลดังกล่าวทำให้ครูเรียนรู้ว่า .. นักเรียนทุกคนอยากมีตัวตน ซึ่งครูจะต้องละเอียดอ่อนกับการสังเกตนักเรียนเป็นรายบุคคล ครูต้องให้ constructive feedback ที่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนทุกคน ครูต้องสร้างความเชื่อมั่นในการทำงานให้นักเรียนก่อนเริ่มต้นทำงาน เช่น ทำให้ดู และให้วิธีการทำงานเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียนได้ และครูต้องรู้ว่าทุกครั้งที่เข้าไปในชั้นเรียน ใจของครูอยู่ที่ “นักเรียน” ไม่ใช่อยู่ที่ “ผลงาน” นอกจากนี้ยังมุ่งสร้างความสนใจใฝ่รู้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ภูมิปัญญาภาษาไทยด้วยการจุดประกายการออกแบบการเรียนรู้ ด้วยการพานักเรียนให้เข้าใกล้ความเป็นไทย รู้จักวิธีเสพความเป็นไทย และครูสร้างความเป็นไทยในตัวตน ซึ่งครูจะต้องจุดประกายสิ่งเหล่านี้ให้ตนเองก่อน แล้วจึงจะพาให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในเรื่องนี้ต่อไปได้

ติดตาม “ความเพียรของครูนัท” นำเสนอในงานชื่นใจได้เรียนรู้…ภาคครูเพลินครั้งที่ 18
ขอบคุณบทความสะท้อนการเรียนรู้จากคุณครูนันทกานต์ อัศวตั้งตระกูลดี (ครูนัท) ค่ะ

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563