เราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน
ตั้งใจเข้ามาช่วยงานโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน และเพราะเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันเลี้ยงดู (It takes a village to raise a child.)
“เอเชียดินแดนของคนกินข้าว” วิถีการกินอยู่ที่สร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม ถูกส่งต่อ สืบทอดเชื่อมโยงกันไปในทวีปเอเชีย ประเทศไทยตั้งอยู่ศูนย์กลางของเอเชียจึงมีความหลากหลายทั้งทางชีวภาพและชาติพันธุ์ มีวัฒนธรรมที่แตกต่างในแต่ละภูมิภาค
ในปีนี้ทางคณะผู้จัดงานลมข้าวเบาตั้งต้นแนวคิดที่ว่าด้วยสภาพสังคมที่ห่างเหินกันจึงอยากสร้างความรู้สึกใกล้ชิดผูกพันจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งครูปาด – ศีลวัต ศุษิลวรณ์ในฐานะที่ปรึกษาและเป็นผู้ให้แนวคิดลมข้าวเบาเงาเดือนเพ็ญ มีความสนใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและคุ้นเคยกับศิลปะอินเดียได้เอ่ยถึงคำว่า “ปูรณฆฏะ”
“ปูรณฆฏะ” หรือหม้อดอก เผยแพร่มาสู่ทวารวดี สุโขทัย คำใหม่ที่ทุกคนไม่คุ้นหู บางคนไม่เคยรู้จัก เป็นลวดลายภาชนะรูปหม้อน้ำที่มีน้ำเต็มบริบูรณ์ มีเถาไม้เลื้อยออกมาทั้งสองข้าง แสดงสัญลักษณ์ชีวิตและการสร้างสรรค์ เป็นคติความร่มเย็น ความอุดมสมบูรณ์ ลวดลายก้านต่อดอก ใบและดอกที่แตกจะมีก้านใหม่เกิดขึ้นและแตกออกไปเรื่อยๆ สะท้อนถึง “การให้ไม่สิ้นสุด” การให้ผู้ที่รับมาและงอกงามต่อ สืบสานกันต่อไป ไม่มีขาดตอนไปสู่ความเป็นนิรันดร์
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าของมรดกไทยที่ได้ถูกส่งต่อ คุณค่าของความรักความผูกพันจากรุ่นสู่รุ่น การให้ที่ไม่สิ้นสุด รวมถึงการเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ ในทวีปเอเชียทีมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน
ในวิชาดนตรีชีวิตชั้น อ.1 มีการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างในแถบเอเชีย คือประเทศจีนเด็กๆได้ฟังเรื่องราวเจ้ามังกรเฝ้าประตู ได้ร้องเพลงหนีห่าว ได้เห็นตัวอักษรจีน ได้เคลื่อนไหวร่างกายแบบต่างๆตามท่อนเพลง A B form อย่างสนุกสนาน ได้เล่นกลอง ได้เห็นลวดลายแบบจีนที่มีเส้นสายอ่อนช้อยสวยงาม ได้เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม
ในวิชาศิลปะ อ.2 ครูเบิร์ดใช้ศิลปินตาบอดคือ คุณ John Bambrit มาสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ได้เรียนรู้โลกอีกใบที่แตกต่าง และเห็นความงามในความมืด ได้ช่วยเหลือกัน อีกทั้งชีวิตของศิลปินเองที่เป็นผู้ให้ และเป็นแรงบันดาลใจมากมายให้เด็กๆ
ในวิชาศิลปะ อ.3 ครูเบิร์ดได้นำแนวคิดปูรณฆฏะไปสร้างสรรค์แผนการสอนศิลปะหลากหลายรูปแบบ ทำการตกแต่งห้องศิลปะให้เป็นรูปภาพเกี่ยวกับการให้และการแบ่งปัน เป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาวเอเชีย ซึ่งควรปลูกฝังไว้ให้เกิดขึ้นต่อๆกันไปไม่รู้จบ นำศิลปิน Doodle และสีน้ำ คือคุณชิฮิโระ อิวาซากิ ที่วาดภาพโดยใช้เทคนิคต่อเนื่องไปเรื่อยๆบนพื้นผิวต่างๆ และคุณอิวาซากิ คือการวาดสีน้ำภาพเด็กและธรรมชาติ ทำให้จิตใจอ่อนโยน การเน้นถึงการเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันในชั้นเรียน ในเรื่องการใช้พื้นที่และอุปกรณ์ และนำเทคนิคงานศิลปะของศิลปินทั้งสองมาสร้างสรรค์เนื้อหานิทานที่เกี่ยวกับการให้
สำหรับช่วงชั้นที่ 1 และ 2 คุณครูสอดแทรกการเรียนรู้เรื่องการให้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นในงาน Gift for giving ชวนคิดกิจกรรมระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส การวาดลวดลายไทย ลายก้านต่อดอกเพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นคุณค่าของศิลปะไทยที่มีความอ่อนช้อย งดงาม และยังสามารถสร้างคุณค่าจากผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น โดยคณะทำงานลมข้าวเบาได้นำลวดลายที่ออกแบบมาทำของที่ระลึกต่างๆ ในงานลมข้าวเบา 2566 โดยรายได้ร่วมสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย
สำหรับพี่มัธยม ได้รับชมการแสดงจากรุ่นพี่ รุ่นน้องที่มาสะท้อนประเพณี วิถีชิวิตชาวนาไทยผ่านการร้องเพลงฉ่อย และร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะภายใต้แนวคิด เทศกาลลมข้าวเบา…เงาเดือนเพ็ญ โดยใช้เทคนิคหลากหลาย ทั้งการออกแบบกราฟฟิค การตัดแปะ การถ่ายภาพที่สื่อถึงการบันทึกความทรงจำต่างๆ ใช้รวงข้าว ชาวนา ดวงจันทร์ เพื่อสื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ภาพของการละเล่น การแสดง อาหาร วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ เพื่ออนุรักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และในผลงานได้สื่อถึงมิตรภาพระหว่างเพื่อนพ้อง คุณครู ผู้ปกครองที่ได้จากการทำกิจกรรมจนเกิดเป็นความผูกพัน
นอกจากนี้ยังมีกลอนไฮกุที่สื่อความหมายอย่างตรงไปตรงมากับเทศกาลลมข้าวเบา เงาเดือนเพ็ญ เช่น
“ยามทุ่งนาสีทอง ลมหนาวสัญญาณการพบเจอ กลับมางานข้าวเบา”
“ลมหนาวแรกพัดมา พัดพาต้นข้าวเอนลู่ลม พากันร่วมครื้นเครง”
“ลมหนาวพัดเข้ามา แสงแดดกรุ่นในนาข้าว ล้อมวงถามไถ่กัน”
นิทรรศการนี้ชวนให้หวนคิดถึงวันวานในเทศกาลลมข้าวเบาในความทรงจำ ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความตื่นเต้นต้อนรับเทศกาลที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วัน เป็นเหมือนดั่งการโหมโรงให้กับเทศกาลลมข้าวเบา เงาเดือนเพ็ญ ในวันที่ 22-24 พฤศจิกายนนี้
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566