การพาลูกเล็กทำกิจกรรมในแต่ละวันกับการฝึก Resilience

บันทึก : การพาลูกเล็กทำกิจกรรมในแต่ละวันกับการฝึก Resilience

วิทยากร : รองศาสตราจารย์นายแพทย์วีระศักดิ์ ชลไชยะ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาศักยภาพเด็กไทย สาขาวิชาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Zoom Meeting : วันที่ 15 มิถุนายน 2564

Positive Parenting : โรงเรียนเพลินพัฒนา

ลูกเราต้องอยู่ในโลกยุค VUCA World เป็นคำย่อของ

ความผันผวน (Volatility)
ความไม่แน่นอน (Uncertainty)
ความสลับซับซ้อน (Complexity)
ความคลุมเครือ (Ambiguity)

เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาๆ บางครั้ง “VUCA world” เลยถูกเรียกว่า “The New Normal” หรือ ความเป็นปกติแบบใหม่นั่นเอง สถานการณ์หนึ่งที่เป็นตัวอย่างของ VUCA World ที่ชัดเจนที่สุด ณ ตอนนี้ คือ COVID-19 Pandemic ซึ่งทักษะหนึ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตบนโลกแบบนี้คือ “Resilience” : ความยืดหยุ่น / ความสามารถในการกลับสู่สภาพเดิม

RESILIENCE เป็นความสามารถที่จะยืนหยัดเมื่อเจอความทุกข์ยาก แม้เราจะไม่ได้แข็งแกร่งตลอดเวลา แต่เมื่อเจออุปสรรคเราก็พร้อมจะปรับตัว และสามารถที่จะเยียวยาตัวเองกลับมาสู่สภาพเดิมได้ ไม่แย่ไปจนถึงจุดที่ลุกกลับขึ้นมาไม่ได้ (หรือจนซึมเศร้า หรือกลายเป็นปัญหาทางจิตเวชไปเสียก่อน)

RESILIENCE เป็นผลมาจากการมีปฏิสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ได้แก่

▶️ พันธุกรรม

▶️ พื้นอารมณ์ของเด็ก เช่น เด็กเลี้ยงยาก vs. เด็กเลี้ยงง่าย | เด็กปรับตัวง่าย vs. เด็กปรับตัวยาก

▶️ ความรู้และทักษะต่างๆ

▶️ การสนับสนุนจากครอบครัว คนรอบข้าง เพื่อน และสังคม ว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงการมีแหล่งทรัพยากรทางสังคม

ประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์ตั้งแต่วัยเด็ก (Adverse Childhood Experiences : ACEs)

งานวิจัยเมื่อปี 98 ที่แคลิฟอร์เนีย ได้ศึกษาถึงประสบการณ์อันยากลำบาก/ไม่ดี 10 อย่าง ที่พบเห็นได้ เช่น

  • การทารุณกรรมทางด้านร่างกาย การลงโทษอย่างรุนแรง
  • การทำร้ายจิตใจด้วยคำพูด
  • การละเลย ทอดทิ้งเด็ก
  • พ่อแม่หย่าร้าง/ติดสารเสพติด/เป็นโรคจิตเภท/ก่ออาชญากรรม

เหล่านี้มีผลต่อ Lifestyle เมื่อเด็กโตขึ้น มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความเสี่ยงติดเหล้า บุหรี่ สารเสพติด เป็นต้น

ประสบการณ์ในวัยเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่

นอกจาก ACEs ใหญ่ๆ ข้างต้น ยังมี ACEs เล็กๆ ที่มองข้ามไม่ได้อีก เช่น การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม สุขนิสัยการนอนที่ไม่ดี การไม่ปฏิสัมพันธ์กับลูกมากพอ ไม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง การที่ยอมให้ลูกติดจอ/สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป

คุณภาพของการเลี้ยงดูตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต สามารถทำนายรูปแบบทางอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กเมื่อโตขึ้นได้ อย่างไรก็ดี แม้เด็กจะอาศัยอยู่ในภาวะที่มีความเครียดและไม่เหมาะสม แต่หากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็กมีคุณภาพสูง จะทำให้เด็กยังคงพัฒนา Resilience ได้ เช่น เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนในสลัม ก็ยังจะสามารถมีชีวิตที่ดีได้ สิ่งนี้เป็นตัวที่ Make a Difference!

นอกจากนี้ความเครียดเรื้อรัง (เช่น เด็กที่โดนดุด่าเป็นประจำ) ส่งผลให้สมองส่วนอารมณ์ทำงานหนัก และมีผลต่อความจำของเด็ก

(แม่บิวขออนุญาตยกตัวอย่าง : Amygdala Hijack เช่น เวลาที่ลูกถูกคุณพ่อคุณแม่ปรี๊ดใส่ในชั่วพริบตา…😅

การทำงานของ Amygdala จะทำงานก่อนที่สมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex = PFC) ที่ใช้ในการประมวลด้านเหตุและผลจะทำงาน เสมือนกับว่าได้ปล้นการกระทำไปจากสมองส่วนเหตุผล ส่งผลให้ลูกมีการกระทำในรูปแบบอื่นแทน เช่น หนี (Flight), สู้ (Fight) หรือ นิ่ง (Frozen) คราวนี้เจ้า Amygdala มีส่วนที่ทำให้มนุษย์เรามีความอ่อนไหวในเรื่องเศร้าๆ หรือความคิดในด้านลบได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เรามีความคิดแย่ๆ เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ไปจนถึงมีอาการของโรคซึมเศร้าได้ ถ้าเราปล่อยให้ปรากฏการณ์ Amygdala Hijack เกิดขึ้นบ่อยครั้งเข้า ระบบประสาทก็จะเชื่อมโยงกันแข็งแรงมากขึ้น เหมือนกล้ามเนื้อที่ใช้บ่อยมากก็จะแข็งแรงมาก อันจะนำไปสู่การลดประสิทธิภาพและความสามารถในการคิด พิจารณา ไตร่ตรองหาทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ และยังจะสร้างผลกระทบต่อความจำระยะยาว (Long term memories) ในสมองส่วน (Hippocampus) ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างพฤติกรรมและอุปนิสัยในอนาคตอีกด้วย)

กล่าวโดยสรุป คือ ความเครียดเรื้อรังและ ACEs มีผลต่อวงจรชีวิต ต่อฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกัน และส่งผลต่อพัฒนาการและสุขภาพ

Parental Sensitivity :  

  • ในช่วงปฐมวัย (แรกเกิด – 7 ปี)

หากพ่อแม่ไวกับอารมณ์ของเด็ก มีการเลี้ยงดูแบบตอบสนอง ไม่ได้หมายความว่าต้องตามใจลูกทุกอย่าง! แต่รับรู้ เข้าใจ support อารมณ์และความรู้สึกของลูกได้อย่างเหมาะสม มี family functioning ที่บ้านยังคงเป็นบ้าน + พ่อแม่ประคับประคองลูก ➜ เราสามารถช่วย shape สมองลูกได้จากการเลี้ยงดู ➜ เด็กยังไปต่อได้ตามพัฒนาการ 👍✌

Resilient Traits :

▶ คนเราต้องเจอความยากลำบากในชีวิต การที่เราคอยช่วยลูก ทำให้เขาตลอดตั้งแต่เล็กจนโต ทำแทนในสิ่งที่เขาควรจะทำได้ตามวัย มีผลต่อความภูมิใจของเขา ➜ “ฉันทำได้ไม่ดีใช่หรือไม่” “ตัวฉันไม่ดีพอใช่หรือไม่”

▶ หากความสามารถทางด้านสังคมดี (มีพี่น้อง ญาติ หรือเพื่อนคอย support) เป็นสิ่งที่ช่วยดึงเรากลับมาสู่สภาพเดิมได้ง่ายกว่าคนที่มีความสามารถด้านสังคมไม่ดี (ขาดเพื่อนคู่คิด ไม่มีที่ปรึกษา)

▶ ต้องรู้จักควบคุมตนเองจากภายในให้เป็น หากเราควบคุมข้างในไม่ได้ เราจะกลับมาได้อย่างไร

▶ ต้องมี Cognitive Flexibility ปรับความคิดจาก negative มา positive ได้ ลดการโทษตัวเองและพร้อมที่จะให้อภัยตัวเอง

▶ มุ่งมั่นตั้งใจแม้จะเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ (ในเด็กเล็ก บางครั้งพ่อแม่อาจคิดว่าเรื่องนี้ยังไกลตัวลูก แต่หากเขาแสดงความสนใจในสิ่งใด เราพร้อมส่งเสริมสนับสนุน) หรือหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด มุ่งมั่นมองหาหนทางแก้ไข

▶ ความสามารถในการตรวจสอบใหม่ เมื่อเราล้มลง เรากลับมาคิด เฝ้าติดตาม/ทบทวนตัวเองว่าตรงไหนที่เราผิดพลาดไป แล้วจะแก้ไขอย่างไรต่อไป

ทักษะทางสังคมที่ดี จะช่วยในการทำงาน/ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ➜ การทำงานในแต่ละวันจะส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา + พ่อแม่ที่รู้จักอดทนรอคอย ไม่รีบร้อนช่วยเหลือ/ทำแทน ➜ ลูกได้ฝึกแก้ปัญหาหลากหลาย เมื่อแก้ปัญหาซับซ้อนได้มากขึ้น = ได้ฝึกคิดหลายมุมมอง ➜ ช่วยให้มีความตระหนักรู้อย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งต้องใช้มากขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่

ในวัยเด็กเล็ก เมื่อเขาอยากทำให้ได้ด้วยตนเอง พอแม่รอได้หรือไม่ หากเขาทำได้ ความมั่นใจเกิด ความภูมิใจมา พ่อแม่อาจตั้งเป้าหมายด้วยว่า กิจกรรมที่ทำนี้มีเป้าหมายเพื่ออะไร ให้ลูกช่วยฝึกตั้งเป้า เมื่อสิ่งที่เขาทำมีความหมายกับตัวเขา เช่นนั้นฉันจะมุ่งมั่นไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

ยกตัวอย่างการฝึกตั้งเป้าหมายจากเรื่องง่ายๆ ก่อน : ถ้าลูกทำความสะอาด จัดโต๊ะเรียน ➜ โต๊ะจะสะอาดขึ้น ไม่รก ➜ หาของง่าย ➜ น่านั่งเรียน🥳

ความสามารถทางสังคม :

▶ การ feedback เชิงบวก ➜ แม้ลูกจะไม่ได้มีคุณสมบัติครบทุกอย่าง แต่เราพร้อมส่งเสริมด้านที่เขาเด่น

▶ การมี sense of humor สำคัญ ➜ ชีวิตนี้ยากลำบากแน่ๆ หากมีอารมณ์ขันบ้าง จะช่วยให้มองสิ่งต่างๆ ในมุมที่แตกต่างออกไปได้

▶ จิตอาสา ➜ บางคนไม่ได้เก่งมาก แต่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง/เพื่อน ➜ ชีวิตไปได้ดี

ความเป็นตัวของตัวเอง :

▶ เราสามารถเฝ้ามองลูกอยู่ห่างๆ ได้หรือไม่ คอยสนับสนุน แต่ให้อิสระเขามากพอที่จะทำด้วยตนเอง

▶ สามารถควบคุมตนเองจากภายใน รับรู้ว่าตัวเองสามารถทำงานต่างๆ จนสำเร็จ เช่น การดูแลช่วยเหลือตัวเอง การทำงานบ้าน ➜ รับรู้ว่าตนเองมีประสิทธิภาพ (self-efficacy) ➜ ความภาคภูมิใจในตนเอง

ทั้งนี้ เด็กจะมี Lifelong Resilience ได้ เด็กจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับคนเลี้ยงหลักอย่างน้อยหนึ่งคนที่คอยใส่ใจ ห่วงใย เกื้อหนุนเขาเพื่อให้เขามีความไว้วางใจต่อโลกใบนี้ (Basic Trust) และต้องเป็นความสัมพันธ์เชิงบวกที่ต่อเนื่องยาวนาน และสม่ำเสมอ เป็น Supportive Relationships ➜ พ่อแม่มีความคาดหวังที่เหมาะสมกับลูกได้ มีกฎกติกาที่สมเหตุสมผลได้ มอบหมายความรับผิดชอบ ฝึกระเบียบวินัยให้แก่ลูกได้ และเมื่อเขาให้ความร่วมมือ เราเน้นย้ำบอกกับเขา ชื่นชมที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์❤

พ่อแม่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ พ่อแม่ต้องมีสติก่อน วางงานลง และให้ความสำคัญกับเขา🥰
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ขอให้มีคุณภาพและสม่ำเสมอ

ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งเสริม Resilience เช่น การมองมุมบวก ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝน จากเรื่องราวที่ไม่ดีนี้ เรามองหาข้อดีเจอหรือไม่ ต้องฝึกคิดและรู้สึกแบบนั้นได้ด้วยตนเอง แล้ว manage กับความยากลำบากนั้น เช่น หากลูกวัยอนุบาลถูกเพื่อนอาเจียนใส่ ลูกทำอย่างไร? เมื่อลูกกลับมาเล่า เรามี feedback อย่างไร?

"ใช้ได้เหมือนกันนะเราที่ไปบอกคุณครูว่าเพื่อนไม่สบาย ดีนะเนี่ยที่ลูกรู้จักพกชุดสำรองไปโรงเรียน"  

การมองแบบ positive ต้องฝึก เหมือนกับการคิดนอกกรอบ แล้วเรายังต้องควบคุมกำกับตัวเองให้ได้ด้วยเมื่อเจอกับความผิดหวัง หรือไม่ได้ดั่งใจ

นอกจากนี้ พ่อแม่ควรมีสุขภาวะโดยรวมดี ส่งเสริมกิจวัตรประจำวันที่คงเส้นคงวา (เหมือนกันทั้งช่วงเปิดเรียนและปิดเทอม หรือช่วงเรียนออนไลน์) เพื่อทำให้เขารู้สึกปลอดภัย โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ กิจวัตรที่ดี จะส่งเสริมการกำกับควบคุมตนเอง แต่การวางแผนกิจวัตรนั้น ควรต้องสื่อสารกับลูกให้ชัดเจนก่อนด้วยเช่นกัน😊

สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ Teamwork ระหว่างบ้านและโรงเรียนด้วย🤝

▶ โรงเรียนเน้นย้ำเรื่อง…การมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับเพื่อนๆ

▶ เมื่อเด็กมีจิตอาสา ➜ ชื่นชมพฤติกรรม

▶ พฤติกรรมเด็กในห้องเรียน ➜ ต้องเรียนรู้การทำงานกลุ่มร่วมกัน ➜ การแบ่งปันทรัพยากรที่มีจำกัด

▶ เน้นการทำงานที่เชื่อมโยงกัน ➜ ช่วยให้ทักษะอารมณ์ สังคมที่พัฒนามากยิ่งขึ้น

Resilience จะเกิดได้ EF ต้องดีด้วย!

EF ประกอบไปด้วย :

● การตั้งใจจดจ่อ (focus) ไม่วอกแวก (not distract)

● การรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน (delayed gratification)

● การบริหารความจำใช้งาน (working memory)

“…ความจำใช้งานจะปรากฏขึ้นเป็นการชั่วคราวเพื่อให้เจ้าตัวได้ใช้ในการทำงานจนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย หลังจากบรรลุเป้าหมายแล้วความจำใช้งานจะหายไป ตอนที่ความจำใช้งานผุดบังเกิดขึ้นมา ความจำใช้งานจะกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับสมาธิ (attention) คือสมาธิตั้งมั่นเพื่อทำงานจนเสร็จ สมาธิจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยประคับประคองให้ความจำใช้งานยังคงอยู่ตลอดช่วงเวลาที่กำลังทำงาน จนกว่าจะเสร็จ เด็กที่สมาธิไม่ดีนักมักจะประคองความจำใช้งานได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ทำหล่นหายไปอีก เด็กที่สมาธิไม่ดีนักจึงทำงานไม่เสร็จเสียที พอความจำใช้งานหายไปก็หันไปสนใจสิ่งอื่น…”

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

0-1 ขวบ EF ค่อย ๆ พัฒนา

3-6 ขวบ EF พัฒนามากที่สุด

เด็กจะทำสิ่งใดได้ดี ก็ต่อเมื่อมีความตื่นตัว (alert) และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เวลาที่เด็กทำอะไรตามความเคยชิน เช่น โกรธแล้วชกเลย หากว่า EF เขาพัฒนา เขาจะไม่ทำแบบเดิม

ทักษะในศตวรรษที่ 21 :

🥇 Life and Career Skills

🥈 Learning and Innovations Skills

🥉 Information, Media and Technology Skills

วิชาสมัยใหม่ที่ต้องรู้ :

⛳ Environmental Literacy

⛳ Global Awareness

⛳ Financial Literacy

⛳ Healthy Literacy

⛳ Civic Literacy

“CLICK เลื่อนซ้าย – ขวาเพื่อดู Slide เพิ่มเติม”

ทำไม EF จึงสำคัญ :

หาก 3-11 ปี กำกับควบคุมตนเองได้ดี สามารถทำนายสุขภาพ การทำผิดกฎหมาย การติดสารเสพติด ฯลฯ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ได้

ACEs ที่เราพูดไปข้างต้น สามารถทำลาย EF ได้ จะให้ EF กลับมา ต้องอาศัยพ่อแม่!

ปัจจัยของแต่ละบุคคลที่มีผลต่อ EF :

● พื้นอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยากหรือง่าย

● มีปัญหาพัฒนาการร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ออทิสติก สมาธิสั้น พัฒนาการด้านภาษาล่าช้า

Attachment : แม่ที่มีอยู่จริง

● ความผูกพันนี้จะคงทนถาวร ทอดยาวออกไป “ฉันยังมีความหมาย” , “ยังมีแม่ที่รักฉันอยู่” ➜ Internal Security ➜ ใช้เป็นฐานก่อนที่ลูกจะออกไปสำรวจโลก หรือเริ่มต้นลงมือทำอะไรต่อไป ➜ เป็น foundation ก่อนนำไปสู่ความสัมพันธ์หรือความผูกพันในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป

Self-Efficacy :

● รับรู้ว่าตนเองสามารถทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ บรรลุเป้าหมายได้

● มีความสัมพันธ์กับการควบคุมตนเอง เช่น การที่เขาล้างแก้วได้ เขาต้องกำกับตัวเองให้ยืน ➜ ล้างน้ำยา ➜ ล้างน้ำจนสะอาด ➜ คว่ำแก้วตาก (บรรลุเป้าหมาย)

● เด็กที่รับรู้ว่าตนเองไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ จะมีปัญหาทางอารมณ์มากขึ้น

“CLICK เลื่อนซ้าย – ขวาเพื่อดู Slide เพิ่มเติม”

การชมที่กระบวนการเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องฝึก ให้พูดออกมาได้จากใจ ฟังแล้วสมเป็นตัวเรา ถ้าไม่เคยฝึกมาก่อน จะพูดไม่ชินปากและไม่เป็นธรรมชาติ😅

“CLICK เลื่อนซ้าย – ขวาเพื่อดู Slide เพิ่มเติม”

แต่! เราต้องเคารพจังหวะของลูกด้วย…

❌ ทำไมไม่หัวไวแบบพี่เลย

❌ ทำไมไม่เก่งแบบแม่เลย

✅ ให้เด็กได้มีบทบาททำงานต่างๆ ให้เสร็จได้ด้วยตนเอง

การใช้สื่อดิจิตอลต่างๆ ที่มีผลให้ EF ลดลง : 

● การใช้สื่อเร็วเกินไป

● เนื้อหาหรือบริบทไม่เหมาะสม

● เปิดทิ้งไว้ทั้งวัน

● ใช้หลาย ๆ สื่อในเวลาเดียวกัน

👆👆 หลายงานวิจัย ➜ พบว่ามีผลให้ EF ลดลง

แก้ไขโดย ➜ พ่อแม่ไหวตัวให้ทัน มีปฏิสัมพันธ์กับลูกมากขึ้น ตั้งกฎกติการ่วมกันและบังคับใช้ได้จริง ฝึกระเบียบวินัยสม่ำเสมอ

“CLICK เลื่อนซ้าย – ขวาเพื่อดู Slide เพิ่มเติม”

กิจวัตรประจำวันตามวัย :

● กิจกรรมกลางแจ้ง การออกแรง ต้องมีและเหมาะสมตามวัย

● ต้องมีการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ คุณภาพการนอนที่ดีสำคัญมาก ถ้าเด็กนอนหลับกลางคืนได้ดี แนวโน้ม EF มีปัญหาน้อยกว่า เด็กอนุบาลที่มีปัญหาการนอน พบว่าความจำในการทำงาน และการควบคุมยับยั้งตนเองลดลง

● ส่งเสริมกิจกรรมการเล่นตามวัย สำหรับวัยเด็กเล็ก เช่น การเล่นที่…ถ้าบอกว่าหัวให้จับเท้า บอกเท้าให้จับไหล่ บอกไหล่ให้จับขา ➜ ส่งเสริมความจำใช้งาน และการกำกับควบคุมตนเอง

● การฝึกสติช่วยเรื่องการกำกับควบคุมตนเองได้

“CLICK เลื่อนซ้าย – ขวาเพื่อดู Slide เพิ่มเติม”

ถ้าเรามี EF ดี มีสติ = เรามีทางเลือกมากกว่า ไม่ต้องทำตามสมองส่วนสัญชาตญาณเสมอไป 
(เช่น โวยวาย ทำร้ายผู้อื่น) 

“CLICK เลื่อนซ้าย – ขวาเพื่อดู Slide เพิ่มเติม”

Q & A :

Q : พ่อแม่สามารถมีตัวช่วยเพื่อให้มีเวลาสนใจต่อความต้องการลูกได้อย่างไร?

A : บางครั้งคุณพ่อคุณแม่มีงานบ้านเยอะมาก หรือคุณหมอเคยเจอคุณแม่ Perfectionist บางท่าน ต้องซักผ้าเอง คนอื่นซักไม่ได้ แล้วต้องซักกับมือ คุณหมอแนะนำว่า..ซื้อเครื่องซักผ้าดีๆ ซักเครื่อง😅 สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ให้ซื้อเลย เพื่อให้เรามีเวลากับลูกมากขึ้น แต่ไม่ใช่มองหาตัวช่วยทุกอย่าง แต่ก็ยังส่งต่อลูกให้พี่เลี้ยง แล้วเราก็ไม่ได้มีเวลาให้เขาเหมือนเดิม😢

Q : หากคุณแม่พบว่าตัวเองก็เป็นคนที่ไม่มี Resilience จะสอนลูกได้อย่างไร?

A : การที่คุณแม่ยอมรับและกล้าพูดออกมา นับว่าเป็นการตรวจสอบตัวเองใหม่ เป็นหนึ่งในลักษณะของคนที่มี Resilience ที่ยอมรับว่าตัวเองผิดพลาด พร้อมที่จะปรับตัว แก้ไขตรงจุดที่เราด้อย แต่เราต้องมีสติ บางครั้งหน้างานมีหลายรูปแบบ แถมบางบ้านครอบครัวใหญ่ (มากคนมากความ) เราต้องยิ่งสร้างสัมพันธ์เชิงบวกกับลูก และลูกจะมี Resilience ได้ เราต้องฝึกให้มีก่อน เพื่อเป็นแบบอย่าง😊

Q : แม่ fulltime กำลังจะมีน้อง ดูแลคนพี่อย่างไร?

A : อย่างแรกแม่ต้องดูแลตัวเองก่อน ในด้านจิตใจ หา balance ของเราให้เจอ เราก็ต้องมีชีวิตของเราเองด้วย แต่ช่วงปีแรกของเด็กคือช่วงที่เลี้ยงง่ายที่สุด คุณแม่ยังสามารถให้ความสำคัญกับพี่คนโตได้มากอยู่ ใช้เวลาในมุมเชิงบวกกับลูกคนโตให้มากขึ้น หลังจากนั้นค่อยๆ จัดตารางคนโตและคนเล็กให้ลงตัว อาจคุยตกลงกับคุณพ่อว่าจะเข้ามาแบ่งหน้าที่กันอย่างไร เพราะ Teamwork ก็สำคัญ

Q : คุณแม่ลูกสาม ลูกมักจะแย่งแม่กันเองตลอด มีวิธีจัดการอย่างไร?

A : นอกจากแม่ได้ทดลองจัดคิววนแล้วก็ดี หรือนั่งคุยตกลงกับลูกๆ แล้วก็ดี หากมีลูกคนที่ยอมเสียสละ แม่อาจจะเพิ่มคำชื่นชม “ขอบคุณที่หนูยอมเสียสละ แม่จะเพิ่มชั่วโมงเล่นกับหนูให้มากขึ้นแทนนะคะ” หรือ ลองเล่นเป็นเกมส์ วันนี้ใครคือผู้เสียสละ! กิจกรรมแยกแต่ละคน คนละ 15 นาที/วันนั้น มีได้ แต่ไม่จำเป็นต้องแยกออกไปทำนอกบ้าน เราสามารถทำในบ้านได้ บางครั้งเกิดเหตุการณ์ เช่น ฝนตก ตอนช่วงเวลาของลูกอีกคน อาจทำให้เกิดประเด็นว่า “ทำไมพอถึงคิวหนู แล้วหนูไม่ได้ออกไป” กลายเป็นปัญหาตามมาแทน😅

Q : มีวิธีช่วยสร้างสมดุลระหว่าง autonomy กับการที่ลูกมั่นใจในตัวเองมากเกินไปอย่างไร?

A : เพิ่มระเบียบวินัยที่เหมาะสมให้ คุยสื่อสารให้เข้าใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น “อันนี้ที่ลูกจะทำเองน่ะดีแล้ว แต่จะรบกวนคุณยายมากเกินไปนะคะ” ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นเด็ก เลยจะทำอะไร อย่างไรก็ได้ ต้องสอนอะไรควรไม่ควร เน้นย้ำเรื่องกาลเทศะ ส่งผลต่อไปเมื่อเข้าสู่สังคมนอกบ้าน ➜ สนามเด็กเล่น โรงเรียน ไม่ใช่มั่นแต่ไม่มีเพื่อนเลย😣

สุดท้ายนี้ คุณหมอฝากว่า…

Parenting is a process learned through trial and error.

(ขยายความ : เราเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก จากการตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือไม่ดีพอ หรือแม้แต่สงสัยในความสามารถที่จะเป็นพ่อแม่ของเราเอง แต่นั่นก็เป็นหนทางที่เราเรียนรู้การเป็นพ่อแม่…ที่จะดีขึ้นในทุกๆ วันนะคะ😊)

...ไม่มีแม่ที่เพอร์เฟค มีแต่แม่ที่ดีพอ…

ขอขอบคุณบันทึกจากแม่บิว (ุพุฒิ ชั้น 6 /พีค พราว ชั้น 3)

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร

ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2564