การนำเสนอโครงงาน PBL – Problem based learning

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือช่วงเวลาของการนำเสนอ PBL – Problem based learning หรือโครงงานโดยใช้ปัญหาเป็นฐานของพี่ๆ มัธยมทั้งการนำเสนอรูปแบบ Oral Presentation และการออกบูธให้ผู้สนใจได้มาร่วมพูดคุย และสัมผัสกับผลงาน นวัตกรรม หรือการทดลองใหม่ๆ โดยบูธในรอบนี้มีมากถึง 84 บูธแบ่งเป็น หมวดกีฬา สุขภาวะ อาหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะและดนตรี สังคมและจิตวิทยา การงานอาชีพ และ การศึกษาพิเศษ หัวข้อโครงงานที่นักเรียนเลือกไม่ใช่เรื่องไกลตัว ส่วนใหญ่ล้วนมาจากปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวัน แต่เรื่องเหล่านั้นอาจถูกกมองข้ามไป เช่น

  • โครงงานการแปรรูปผักให้เป็นเมนูอาหารใหม่สำหรับเด็กที่ไม่ชอบกินผักซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กเล็กอย่างเห็นได้ชัด การเลือกนำผักใบเขียวมาแปรรูปเป็นเส้นและกินพร้อมซอสเหมือนเมนูสปาเก็ตตี้ช่วยให้เด็กๆ กินผักได้มากขึ้น สูตรอาหารที่คิดค้นนี้ยังสามารถปรับปรุงและต่อยอดเพื่อสร้างแบรนด์อาหารสุขภาพของตัวเองได้ในอนาคต
  • โครงงานประดิษฐ์กล่องร้องทุกข์เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้ง กล่องร้องทุกข์นี้จะถูกเปิดดูข้อความเป็นระยะ เรื่องร้องทุกข์จะถูกส่งต่อให้คนที่สามารถจัดการปัญหาช่วยคลี่คลาย วิธีนี้สามารถช่วยให้คนที่คิดจะแกล้งคนอื่นน้อยลง เพราะรู้ว่าอาจมีเรื่องของตนเองถูกร้องทุกข์อยู่ภายในกล่อง ในขณะเดียวกันคนที่ถูกแกล้งก็รู้สึกเหมือนมีพื้นที่ให้ได้บอกเล่าหรือระบายความในใจในพื้นที่ปลอดภัย และยังมีอีกหลายคนที่ไม่ใช่ผู้รังแกหรือผู้ถูกรังแกส่งข้อความเชิงบวกให้กำลังใจเพื่อนๆ ด้วย
  • โครงงานการออกแบบสมุดบันทึกคำศัพท์ที่สามารถใช้งานได้จริง สีสันสวยงาม เหมาะสำหรับน้องๆที่อยากบันทึกคลังคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เด็กๆ เล่าอย่างสนุกสนานกับการทำงาน และมีตัวอย่างชิ้นงานมาให้ดู ทุกๆ version ทำให้เห็นได้ว่า เด็กๆ มีความตั้งใจในการทำงาน และเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลเป็นอย่างดี ภายในบูธ มี QR code สำหรับโหลด platform สมุดจดคำศัพท์ มาให้ใช้งานกันด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายโครงการที่น่าสนใจให้เด็กๆ ได้แสดงไอเดีย

กระบวนการ PBL (Problem-Based Learning) เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของช่วงชั้นมัธยมจัดให้เป็นการทำงานอิสระ “นอกเวลาเรียน” การทำงาน PBL ครั้งนี้มีระยะเวลาทำงาน 17 สัปดาห์ โดยนักเรียนตั้งโจทย์จากชีวิตจริงและหาคำตอบด้วยตัวเองผ่านกระบวนการ Design Thinking เพื่อให้เกิดกระบวนการที่ชัดเจน การทำ PBL นั้นจะใช้ปัญหาเป็นตัวตั้งต้น และพี่มัธยมจะนำมาคิดหาทางแก้ไขปัญหานั้นตามกระบวนการจนออกมาเป็นโครงงานที่ได้เห็นมากมายภายในงาน

ความน่าสนใจในการออกบูธ PBL ในปีนี้ ไม่ได้อยู่ที่โครงงานนำเสนอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ร่วมงานด้วย เพราะปีนี้มีน้องๆ ชั้น 5 และ ชั้น 6 ได้มาร่วมเดินชมงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการ PBL กับพี่มัธยมรวมถึงยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ฉันพี่น้องผ่านการเรียนรู้ความสนใจของพี่ๆ และร่วมถาม ตอบกับน้องๆ นอกจากน้องๆ ชั้นประถมแล้ว น้องเล็กสุดอย่างน้องอนุบาลก็มีโอกาสได้มาร่วมดูงานในครั้งนี้ด้วย คุณครูอนุบาลพาน้องๆ เรียงแถวกันมาเพื่อดูงานประดิษฐ์ ชิมอาหาร ทำกิจกรรม และรับขนมปิดท้ายตามกลุ่มโครงงานต่างๆ ที่น้องๆ ได้แวะเวียนไป ถือเป็นภาพที่น่ารักน่าชมเป็นอย่างยิ่ง เพราะน้องได้เรียนรู้จากพี่ ส่วนพี่ก็ได้แบ่งปันกับน้อง และอีกหนึ่งความพิเศษคือ ภายในงานครั้งนี้มีหลายกลุ่มที่นำเสนอโครงงานเป็นภาษาอังกฤษที่ช่วยพัฒนาทักษะภาษาให้ทั้งเจ้าของโครงงานและผู้ชม

เมื่อมีปัญหา เราก็ต้องหาทางแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่กระบวนการ Problem-based Learning สอนเรา แต่มากไปกว่านั้นคือ ความรู้ส่งต่อกันได้ เพื่อขับเคลื่อนคนทุกกลุ่มในสังคมให้เกิดการพัฒนาและก้าวไปสู่โลกอนาคตที่ยั่งยืน

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 26 กันยายน 2566